วันที่ 3 เมษายน 2568 เวลา 10.00 น. ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงานวันน้ำบาดาลแห่งชาติ (National Groundwater Day) ครั้งที่ 3 ประจำปี พ.ศ. 2568 ซึ่งตรงกับวันที่ 3 เมษายนของทุกปี ภายใต้แนวคิด “สืบสานพระราชปณิธาน บูรณาการน้ำบาดาลเพื่อความยั่งยืน” โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พร้อมผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชน เครือข่ายน้ำบาดาล รวมถึงข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ให้การต้อนรับและเข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งสิ้นกว่า 600 คน ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “น้ำบาดาล” เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และมีคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ด้วยศักยภาพของแหล่งน้ำบาดาลในประเทศไทยสามารถตอบสนองความต้องการใช้น้ำบาดาลที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการเพิ่มจำนวนของประชากร การขยายตัวของเมืองและชุมชน การพัฒนาทางด้านเกษตรกรรม เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม รวมทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำนโยบายและแผน ตลอดจนมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาล จึงกำหนดจัดงานวันน้ำบาดาลแห่งชาติ ในวันที่ 3 เมษายนของทุกปี เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับความสำคัญของวันน้ำบาดาลแห่งชาติ และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิชาการน้ำบาดาลและศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องสู่สาธารณะ ตลอดจนเพื่อสดุดีพระเกียรติคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยให้เป็นที่ประจักษ์ถึงวิสัยทัศน์และพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับ การพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำบาดาลอย่างยั่งยืน
นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า จากการที่คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบเมื่อวันอังคารที่ 21 มิถุนายน 2565 ให้วันที่ 3 เมษายนของทุกปี เป็น “วันน้ำบาดาลแห่งชาติ” (National Groundwater Day) สืบเนื่องจากเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน 2565 เวลา 17.00 น. เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่บ้านปากชัดหนองบัว หมู่ที่ 2 ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นการกำหนดวันในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อใช้ในการรณรงค์ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนได้น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์กับการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำบาดาล และร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานในการร่วมกันดูแล รักษา ปกป้องทรัพยากรน้ำบาดาลให้เกิดความยั่งยืนตลอดไป กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจึงกำหนดจัดงานวันน้ำบาดาลแห่งชาติในวันที่ 3 เมษายนของทุกปี โดยวันน้ำบาดาลแห่งชาติ ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2566 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “รวมใจภักดิ์ รักษ์น้ำบาดาล” ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2567 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “สืบสานพระราชปณิธาน รักษ์น้ำบาดาล ต่อยอดความยั่งยืน” และปี 2568 นี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “สืบสานพระราชปณิธาน บูรณาการน้ำบาดาลเพื่อความยั่งยืน”
ทั้งนี้ ภายในงานมีการมอบโล่รางวัลให้แก่เครือข่ายน้ำบาดาลดีเด่น ประจำปี 2568 จำนวน 4 ประเภท ดังนี้
1) ประเภทสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดดีเด่น รวม 26 รางวัล ได้แก่
– ด้านการกำกับ ควบคุมการประกอบกิจการน้ำบาดาลดีเด่น สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฉะเชิงเทรา, กาญจนบุรี, พัทลุง, สระแก้ว และอุดรธานี
– ด้านการตรวจสอบ ติดตามการขอรับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลดีเด่น สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดร้อยเอ็ด, อุตรดิตถ์, เลย, นครศรีธรรมราช และสุโขทัย
– ด้านการบริหารจัดการฐานข้อมูลด้านการประกอบกิจการน้ำบาดาลดีเด่น สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร, นครสวรรค์, สตูล, สุรินทร์ และอ่างทอง
– ด้านการออกใบแจ้งหนี้ และติดตามการรับชำระเงินดีเด่น สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดปทุมธานี, ตรัง, เชียงราย, ลำพูน และสิงห์บุรี
– ด้านการนำส่งรายได้ค่าใช้น้ำบาดาลดีเด่น พื้นที่เขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, สมุทรปราการ และนนทบุรี
– ด้านการนำส่งรายได้ค่าใช้น้ำบาดาลดีเด่น พื้นที่นอกเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา, สระบุรี และภูเก็ต
2) ประเภทกลุ่มผู้ประกอบกิจการน้ำบาดาลภาคเอกชนดีเด่น รวม 8 รางวัล ได้แก่
– ประเภทธุรกิจ บริษัท สิงห์ เบเวอเรช จำกัด, บริษัท วาย.อาร์.ซี.เท็กซ์ไทล์ จำกัด และบริษัท ไก่สดเซนทาโก จำกัด
– ประเภทอุปโภคหรือบริโภค โรงพยาบาลผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, เรือนจำกลางพระนครศรีอยุธยา และองค์การบริหารส่วนตำบลบัวลอย จังหวัดสระบุรี
– ประเภทการใช้น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร บริษัท ศูนย์ปลาสวยงาม บางกอกฟาร์ม จำกัด และ บริษัท สหฟาร์ม จำกัด
3) ประเภทพื้นที่ต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำบาดาลดีเด่น รวม 12 รางวัล ได้แก่ 1) เทศบาลตำบลแม่คำมี อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ 2) องค์การบริหารส่วนตำบลหนองปลิง อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี 3) เทศบาลตำบลบ้านโภชน์ อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ 4) องค์การบริหารส่วนตำบลหนองเม็ก อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม 5) องค์การบริหารส่วนตำบลท่าใหญ่ อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ 6) เทศบาลตำบลคลองพนพัฒนา อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ 7) กลุ่มเกษตรกรบ้านคลองยาง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย 8) เทศบาลตำบลท่าแลง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี 9) องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งมหาเจริญ อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว 10) กลุ่มเกษตรกรบ้านโนนสว่าง อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี 11) กลุ่มแปลงใหญ่มันสำปะหลัง บ้านหนองหงอก อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร และ 12) กลุ่มผู้ใช้น้ำบ้านจำปูน อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
4) ประเภทช่างเจาะน้ำบาดาลกรมทรัพยากรน้ำบาดาล รวม 12 รางวัล ได้แก่ 1) นายประพันธ์ กาสุนันท์ 2) นายอำนาจ ศรีงามฉ่ำ 3) นายธนวัฒน์ ล้อมวงศ์ 4) นายสุรศักดิ์ นาเวียง 5) นายศิริชัย ชูสกุล 6) นายสมมาต สุทธิพรหมมา 7) นายอัศวิน เล็กมนตรา 8) นายสัญญา อำไพรัตน์ 9) นายสมนึก บุญส่ง 10) นายสมบูรณ์ ทุมโคตร 11) นายสุวัน ศรีโสดา และ 12) นายจรุงศักดิ์ ศรีจันทร์
สำหรับกิจกรรมอื่นๆ ประกอบด้วย การบรรยายพิเศษ หัวข้อ “โอกาสและความท้าทายของการบริหารจัดการน้ำบาดาลของประเทศไทย” โดยนายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล การเสวนาหัวข้อ “การปนเปื้อนน้ำบาดาล มรดกสารพิษ ภัยเงียบแห่งอนาคต” และ “การพัฒนาต้นแบบเครือข่ายรักษ์น้ำบาดาล เพื่อการอนุรักษ์น้ำบาดาลอย่างยั่งยืน”
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีบูธแสดงนิทรรศการและผลิตภัณฑ์จาก ผู้ประกอบกิจการน้ำบาดาลภาคเอกชน รวมถึงผลผลิตทางการเกษตรจากผู้ใช้น้ำบาดาล ได้แก่ กลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านหนองเม็ก จังหวัดอำนาจเจริญ กลุ่มเกษตรกรบ้านคลองยาง จังหวัดสุโขทัย กลุ่มแปลงใหญ่เห็ดนางฟ้า จังหวัดราชบุรี และกลุ่มเกษตรกรสวนส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม จังหวัดนครศรีธรรมราช