1. วันนี้: ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ทำให้ภาคเหนือและภาคกลางยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงบางแห่ง สำหรับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง และลมกระโชกแรงบางพื้นที่
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 5 – 8 เม.ย. 68 จะมีแนวพัดสอบของลมตะวันตก เฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้นกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง สำหรับลมตะวันออก และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 61% ของความจุเก็บกัก (49,386 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 43% (25,117 ล้าน ลบ.ม.)
– เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 8 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ : กิ่วลม และแม่มอก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำนางรอง และสิรินธร
ภาคตะวันออก : คลองสียัด
– เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยกว่า 30% จำนวน 80 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ 9 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 44 แห่ง ภาคกลาง 5 แห่ง ภาคตะวันออก 11 แห่ง ภาคตะวันตก 9 แห่ง และภาคใต้ 2 แห่ง
สทนช. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการวางแผนการบริหารจัดการน้ำตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วนตลอดฤดูแล้ง และสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์การแจ้งเตือน การให้ความช่วยเหลือผ่านช่องทางต่าง ๆ
3. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 68 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมาธิการการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ มลพิษและสิ่งแวดล้อม ในคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา การประชุมครั้งนี้สืบเนื่องจากคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาศึกษาเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง และการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนลำตะคอง และเขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา ทั้งนี้ สทนช. ได้ชี้แจงเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำและสถานการณ์น้ำของ จ.นครราชสีมา ต่อคณะอนุกรรมาธิการฯ เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของจังหวัด รวมทั้ง ที่ประชุมยังได้รับทราบข้อมูลแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และแผนงานโครงการที่สำคัญของ จ.นครราชสีมา ด้วย
4. การให้ความช่วยเหลือ : กรมชลประทาน ดำเนินการซ่อมแซมฝายบ้านโนนม่วง ต.วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นอาคารระบายน้ำล้นพร้อมสะพานคนข้ามบริเวณลำห้วยเชียงทา เนื่องจากเกิดการชำรุดเสียหายจากสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ โดยในระยะเร่งด่วนกรมชลประทานได้เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณแล้ว เพื่อซ่อมแซมฝายให้กลับมาใช้งานได้ก่อนเข้าฤดูฝนปี 2568 ทั้งนี้ ในระยะยาวได้วางแผนปรับปรุงโครงสร้างอาคาร โดยเสนอแผนการปรับปรุงฯในปีงบประมาณ 2570 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนอย่างเต็มศักยภาพและช่วยสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับประชาชนในพื้นที่ต่อไป
5. คุณภาพน้ำ ณ จุดเฝ้าระวัง แม่น้ำสายหลัก :
น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
น้ำเพื่อการเกษตร แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน