สธ.เขต 12 เผยผลตรวจสอบก่อสร้างอาคาร รพ.สงขลา มีการควบคุมคุณภาพมาตรฐานทุกขั้นตอน

ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 12 เผยผลตรวจสอบการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอก รพ.สงขลา หลังประชาชนกังวลประเด็นผู้รับเหมามีความเชื่อมโยงกับการก่อสร้างตึก สตง. พบโครงสร้างอาคารมีความแข็งแรง เหล็กและปูนที่ใช้มีการตรวจสอบคุณภาพโดยโยธาธิการจังหวัด ส่วนแบบแปลนเคยใช้ก่อสร้างที่ รพ.ปัตตานีมาก่อนแล้ว

วันที่ 2 เมษายน 2568 นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 12 กล่าวถึงกรณีประชาชนมีข้อกังวลถึงความปลอดภัยของการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุ โรงพยาบาลสงขลา เนื่องจากบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นบริษัทเดียวกับที่ก่อสร้างอาคาร สตง. ที่ถล่มหลังเกิดแผ่นดินไหวที่เมียนมา ว่า เรื่องนี้กระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลสงขลาไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มอบหมายให้ นายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย นายแพทย์รัตนพล ล้อประเสริฐกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลา ประสานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลา เข้าตรวจสอบการก่อสร้างอาคารบริเวณหน้างาน เบื้องต้นไม่พบความผิดปกติจากเหตุแผ่นดินไหว ส่วนการก่อสร้าง โรงพยาบาลสงขลามีกระบวนการควบคุมตรวจสอบที่รัดกุม คณะกรรมการควบคุมงาน คณะกรรมการตรวจรับงาน มีทั้ง วิศวกรของโรงพยาบาล โยธาธิการจังหวัด และนายช่างจากกองแบบกระทรวงสาธารณสุข ส่วนวัสุก่อสร้าง เช่น เหล็กและปูน ได้กำหนดให้มีมาตรฐาน มอก. และมีการตรวจสอบคุณภาพก่อนใช้โดยสำนักงานโยธาธิการจังหวัด ซึ่งจากการตรวจสอบคุณภาพเหล็ก พบว่ามีหลากหลายยี่ห้อ หลายขนาด แต่ทั้งหมดผ่านการทดสอบคุณภาพครบถ้วนตามมาตรฐาน เช่น ขนาด น้ำหนักเฉลี่ย ความต้านทานแรงดึงต่ำสุด-สูงสุด อัตราความยึดเฉลี่ย เป็นต้น ส่วนปูนก็มีการเก็บตัวอย่างมาทดสอบตามระยะเวลาเพื่อดูคุณภาพเช่นกัน

“ขอให้ประชาชนวางใจว่า กระบวนการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอกหลังนี้มีการกำกับดูแลตามมาตรฐาน กระบวนการว่าจ้างและการตรวจรับงานเป็นไปอย่างถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบราชการ อย่างไรก็ตาม พบว่าการก่อสร้างมีความล่าช้าจากการแก้ไขแบบ ซึ่งจะได้ติดตามเร่งรัดให้การก่อสร้างอาคารเป็นไปตามกรอบระยะเวลาโดยยึดความปลอดภัยเป็นหลัก และไม่ให้เกิดปัญหาการทิ้งงาน” นพ.อภิชาตกล่าว

สำหรับการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุ โรงพยาบาลสงขลา เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) จำนวน 9 ชั้น โครงสร้างออกแบบให้สามารถต้านแผ่นดินไหวได้ พื้นที่ใช้สอย 21,652 ตารางเมตร ใช้งบประมาณ 426.9 ล้านบาท จัดจ้างโดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ออกแบบโดยกองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งเคยนำแบบแปลนนี้ไปก่อสร้างอาคารที่โรงพยาบาลปัตตานีมาก่อนแล้ว สัญญาเริ่มวันที่ 29 สิงหาคม 2565 สิ้นสุดวันที่ 24 กรกฎาคม 2568 การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 45.18%