สช. สานพลังออกแบบ ‘Policy Canvas’ ตั้ง คกก.ขับเคลื่อนนโยบาย ‘คนข้ามเพศ’ จัดบริการสุขภาพตรงตามความต้องการ

สช. สานพลังภาคีเครือข่าย ออกแบบนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะ “คนข้ามเพศ” ผ่าน “Policy Canvas” มุ่งยกระดับสิทธิ-บริการด้านสุขภาพ แก้ไขปัญหาความไม่ครอบคลุม การขาดความรู้ความเข้าใจของผู้ให้บริการ พร้อมตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายฯ ศึกษาแนวทางพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่ตอบสนองกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เล็งพัฒนา “ธรรมนูญสุขภาพของคนข้ามเพศ” ต่อไป

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) โดย สำนักนโยบายสาธารณะเขตเมือง ร่วมเป็นหนึ่งในองค์กรร่วมจัดเวทีประชุมระดับชาติ: สุขภาวะของคนข้ามเพศ (ข้ามเพศมีสุข) ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 31 มี.ค. – 1 เม.ย. 2568 ซึ่งจัดขึ้นโดยโครงการพัฒนากลไกนโยบายบริการสุขภาวะคนข้ามเพศ หรือโครงการข้ามเพศมีสุข ภายใต้มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (ThaiTGA) พร้อมด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานภาคีเครือข่าย โดยทาง สช. ยังได้เป็นเจ้าภาพในการจัดกระบวนการร่วมออกแบบนโยบาย “ข้ามเพศ” บนดาวอังคาร ภายในเวทีประชุมดังกล่าว เพื่อนำเสนอ “Policy Canvas” จากการออกแบบนโยบาย และหาทางเลือกในการยกระดับสิทธิและบริการที่เป็นธรรม เท่าเทียม และมีประสิทธิภาพเพื่อสุขภาวะของคนข้ามเพศ

นายเตชิต ชาวบางพรหม ผู้อำนวยการสำนักนโยบายสาธารณะเขตเมือง สช. เปิดเผยในเวทีเสวนาเชิงนโยบาย “การสร้างความร่วมมือเพื่อสุขภาวะคนข้ามเพศอย่างยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า บทบาทของ สช. ในการพัฒนาสุขภาวะคนข้ามเพศ จะมุ่งเน้นไปที่กระบวนการมีส่วนร่วม การเปิดพื้นที่กลางเพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้เข้ามาร่วมพูดคุยกันเพื่อค้นหาช่องว่าง พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย และร่วมกันทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

นายเตชิต กล่าวว่า สำหรับ Policy Canvas เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่ดำเนินงานต่อเนื่องมาจากการประชุมเครือข่ายส่งเสริมสุขภาวะคนข้ามเพศภาคใต้ ครั้งที่ 2 หรือ Southern Pride Health Assembly ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2567 ก่อนมานำเสนอและออกแบบร่วมกันอีกครั้งในเวทีประชุมครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความครอบคลุมและแหลมคมของข้อเสนอเชิงนโยบาย จนได้ออกมาเป็นข้อเสนอของการยกระดับสิทธิและบริการด้านสุขภาพคนข้ามเพศเพื่อสังคมสุขภาวะ ที่ภาคีเครือข่ายได้สะท้อนถึงปัญหา พร้อมกำหนดวิธีการดำเนินงาน บทบาทการทำงาน รวมไปถึงผลลัพธ์ต่างๆ ไว้ร่วมกัน

“ปัญหาหลักๆ ที่ถูกสะท้อน คือเรื่องของสิทธิประโยชน์และการบริการที่ไม่ครอบคลุมความต้องการพื้นฐานของคนข้ามเพศและเพศหลากหลาย ขาดการยอมรับและความเข้าใจจากสังคม ขาดองค์ความรู้ความเข้าใจจากบุคลากรผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ขณะที่คนข้ามเพศและเพศหลากหลายเองก็ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับฮอร์โมน สิทธิ และบริการอื่นๆ ที่จำเป็น จึงเกิดข้อเสนอถึงวิธีการดำเนินงาน ทั้งในแง่ของการสร้างกลไก สร้างมาตรฐาน สร้างความร่วมมือ ไปจนถึงการสร้างค่านิยมและการยอมรับ” นายเตชิต กล่าว

นายเตชิต กล่าวอีกว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะคนข้ามเพศ (คขพ.) ภายใต้ สช. ขึ้น ซึ่งมี ณชเล บุญญาภิสมภาร เป็นประธาน เพื่อศึกษาแนวทางและออกแบบนโยบายในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ที่ครอบคลุมและตอบสนองต่อความต้องการของคนข้ามเพศและบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย พัฒนาธรรมนูญสุขภาพของคนข้ามเพศ ตลอดจนวางเป้าหมาย แนวทาง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบให้เกิดความคุ้มค่าและยั่งยืนต่อไป

นพ.ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ถือเป็นกลุ่มประชากรเฉพาะที่เราต้องให้ความสำคัญ ในด้านหนึ่งคือผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศจำนวนมากจาก Pink Money โดยเฉพาะจากชาวต่างชาติที่มีกำลังจับจ่ายมากกว่าคนทั่วไปที่เข้ามาถึง 40% หรือการเปลี่ยนเพศของไทยที่มีชื่อเสียงและนำเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศมหาศาล แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคเอกชน และเป็นโจทย์ที่เราจะสร้างสมดุลทางเศรษฐศาสตร์อย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานในเรื่องของความหลากหลายทางเพศด้วย

นพ.ปกรณ์ กล่าวว่า ในส่วนบทบาทของ สธ. ต่อประเด็นนี้ ต้องยอมรับว่ายังเป็นเรื่องใหม่ที่จะต้องพยายามศึกษาหาความรู้ และเชิญผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้แนวทาง คำแนะนำ ต่อนโยบายและยุทธศาสตร์ต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนของภาคประชาสังคมที่มีการดำเนินงานเรื่องนี้มาเป็นเวลานาน ซึ่งคาดว่าต่อไปคงจะต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการ หรือบอร์ดที่จะเข้ามาขับเคลื่อนการดูแลสุขภาวะคนข้ามเพศ ตั้งแต่พื้นฐานในส่วนของการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค ไปจนถึงการรักษา ออกแบบระบบบริการเพื่อเป็นข้อมูลนำเข้าให้ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำไปใช้ในการคำนวณงบประมาณต่อไป

นางพรรณี ชัยโพธิ์ศรี ผู้อำนวยการส่วนป้องกันและควบคุมโรค สำนักงานโรคติดต่อทางสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า เดิมในสมัยก่อน กทม. อาจยังไม่มีการทำงานกับกลุ่มเฉพาะในกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ก็ได้เกิดกระแสตื่นตัวมากขึ้นหลังปี 2548 เมื่อพบกับปัญหาความชุกของเอชไอวีที่รุนแรง จนเกิดการทำงานที่ตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นมาตรการป้องกันโรค ยุทธศาสตร์ยุติเอดส์ภายในปี 2573 รวมไปถึงในแง่ของการศึกษาที่สอนให้เด็กนักเรียนรู้จักกับคำว่าเพศสภาพ (Gender) ความเท่าเทียมกันทางเพศ เป็นต้น

นางพรรณี กล่าวว่า ขณะเดียวกันภายหลัง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้ามาเป็นผู้ว่าราชการ กทม. ในปี 2563 ก็ได้เกิดการดำเนินงานที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ การดูแลสุขภาพทั้งมิติของกาย จิต สังคม ผ่านการจัดตั้ง BKK Pride Clinic รวม 31 แห่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ กทม. ดำเนินการมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีการเบิกจ่ายจาก สปสช. และเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ทาง กทม. ยังได้ประกาศเป็นหน่วยงานที่ไม่เลือกปฏิบัติทางเพศ พร้อมนำร่องเป็นหน่วยงานรัฐที่ขอการรับรอง Gender Equality Seal จากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) อีกด้วย

ขณะที่ รศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ภารกิจของ สปสช. คือการค้นหาประชากรกลุ่มที่ยังเข้าถึงบริการสุขภาพได้ยากลำบาก เพื่อจัดหาบริการที่จำเป็นทางสุขภาพให้กับคนกลุ่มต่างๆ อย่างไรก็ตามในส่วนของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ อาจถือเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ยังเข้าไม่ถึงชุดบริการสุขภาพที่จำเป็นในช่วงตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งบริการของ กทม. เองก็อาจเป็นต้นแบบให้ สปสช. นำไปเรียนรู้และเป็นโมเดลที่จะขยายผลได้ต่อไป

“แต่ทั้งหมดก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แม้ สปสช. จะจัดชุดสิทธิประโยชน์ มีการจัดสรรเงินให้แล้วก็ตาม แต่สิ่งสำคัญคือเครือข่ายต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยกันขยายบริการ และขับเคลื่อนเพื่อให้สิทธิประโยชน์เหล่านี้ได้รับการเข้าถึง โดยเฉพาะเครือข่าย CBO หรือหน่วยบริการภาคประชาชน ตามมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545” รศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าว

ด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ภารกิจหลักของ สสส. คือการสร้างเสริมสุขภาพ แม้คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงการออกกำลังกาย การลดเหล้า บุหรี่ หรืออุบัติเหตุ หากแต่อันที่จริงแล้วเรื่องของสุขภาวะทางเพศ ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ สสส. ดำเนินการมาแต่ช่วงแรก ๆ ไม่ว่าจะเป็นในเบื้องหน้า การให้ความรู้ต่อสาธารณะ หรือในเบื้องหลัง การสนับสนุนงานวิจัย งานวิชาการ ซึ่งกลายเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่นำไปสู่การจัดทำนโยบายต่างๆ ต่อไป

ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในการขับเคลื่อนหลายอย่างอาจเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีพลังของภาคประชาชน ประชาสังคม ที่เข้ามาช่วยกันขยับในเรื่องยากๆ ตัวอย่างเช่นกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่แสดงให้เห็นถึงพลังของการร่วมแรงร่วมใจ โดย สสส. จะมีบทบาทสนับสนุนในเรื่องของการสร้างเครือข่าย การจัดเวทีพูดคุยระดมสมอง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน สะท้อนคิด ที่จะช่วยให้เกิดการเดินหน้าขับเคลื่อนงานต่างๆ ต่อไปได้