บ่ายวันที่ 19 ก.ย. 62 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม พร้อมพบปะเยี่ยมเยียนให้กำลังใจและมอบสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยในส่วนของกรมชลประทาน มีดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านบำรุงรักษา) และผู้เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ การเร่งระบายน้ำ และแนวทางในการฟื้นฟูหลังน้ำลด ณ ศูนย์พักพิงชั่วคราว- บ้านหนองกินเพล ต.หนองกินเพล อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในแม่น้ำมูล ที่สถานีวัดน้ำ M.7 มีระดับสูงกว่าตลิ่งที่อำเภอวารินชำราบประมาณ 3.24 เมตร และสูงกว่าตลิ่งที่เมืองอุบลฯ ประมาณ 0.74 เมตร มีปริมาณน้ำไหลผ่าน4,170 ลบ.ม./วินาที การระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงยังสามารถระบายได้ดี ทำให้ระดับน้ำที่ท่วมขังบริเวณพื้นที่ริมแม่น้ำมูลเริ่มมีระดับลงลดอย่างต่อเนื่อง
สำหรับแนวทางการเร่งระบายน้ำที่ขังอยู่ในขณะนี้ ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำมูลพร้อมเดินเครื่องแล้ว 195 เครื่อง(แผนวางไว้ 260 เครื่อง) แบ่งเป็นติดตั้งที่บริเวณสะพานพิบูลมังสาหาร อำเภอพิบูลมังสาหาร 60 เครื่อง(ติดตั้งเสร็จแล้ว) และที่บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำมูล อำเภอโขงเจียม ติดตั้งพร้อมเดินเครื่องแล้ว 135 เครื่อง ที่เหลืออีก 65 เครื่อง จะติดตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้ ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำโขง อยู่ต่ำกว่าหน้าเขื่อนปากมูลประมาณ 2.32 เมตร หากเดินเครื่องผลักดันน้ำได้ครบทั้ง 260 เครื่อง จะช่วยผลักดันน้ำลงสู่แม่น้ำโขงได้เร็วยิ่งขึ้น และเป็นการเตรียมพร้อมหากมีฝนตกในช่วง วันที่ 20-21 ก.ย. นี้ ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ในขณะที่การระบายน้ำจากแม่น้ำมูลลงแม่น้ำโขง ที่อำเภอโขงเจียม ลดลงเฉลี่ยวันละประมาณ 0.50 – 0.70 เมตร ส่วนที่สถานีวัดน้ำ M.7 ระดับน้ำลดต่ำลงเฉลี่ยประมาณวันละ 20 เซนติเมตร ซึ่งจะทำให้สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลคลี่คลายดีขึ้นโดยลำดับในระยะต่อไป
ทั้งนี้ หากระดับน้ำในแม่น้ำมูลลดลงต่ำกว่าตลิ่งแล้ว จะได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ที่ได้จัดเตรียมไว้แล้วกว่า 100 เครื่อง สูบเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังให้แห้งโดยเร็วที่ ซึ่งหากไม่มีฝนตกหนักลงมาในพื้นที่ตอนบน สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและพื้นที่ใกล้เคียงจะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติภายในสิ้นเดือนนี้
สำหรับแนวทางในการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม นั้น นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งเข้าไปฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยหลังน้ำลด โดยได้กำหนดมาตรการในการฟื้นฟูหลังน้ำลด เพื่อช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกร 8 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.การสำรวจความเสียหายพื้นที่หลังน้ำลด 2.หน่วยเคลื่อนที่เข้าฟื้นฟู ด้านการประมง พันธุ์พืช น้ำ ตามพื้นที่จังหวัดนั้นๆ 3.กรมชลประทานเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ชุมชุนและพื้นที่การเกษตร4.การปรับปรุง บำรุงดิน โดยกรมพัฒนาที่ดิน 5.การแจกเมล็ดพันธุ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร 6.การปล่อยปลาลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ โดยกรมประมง 7.การซ่อมแซมเครื่องจักรทางการเกษตร และ 8.การจัดจิตอาสาช่วยเหลือเกษตรกรตามคำร้องขอในเรื่องต่างๆ
………………………………………….
ศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล(ส่วนหน้า) กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
19 กันยายน 2562