สช. สานพลังภาคีเครือข่าย จัดประชุมคณะทำงานพัฒนานโยบายสาธารณะ “การสร้างโอกาสและมูลค่าร่วมใน Silver Economy” นัดแรก มุ่งพลิกวิกฤติขาดแคลนแรงงาน สู่การหนุนเสริมระบบนิเวศ “เศรษฐกิจสูงวัย” ด้านประธานคณะทำงานฯ ชวนภาคีมองหาประเด็นขับเคลื่อน Quick Win ก่อนจัดเวที-กิจกรรม เพื่อนำเข้าสู่ระเบียบวาระ “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18”
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2568 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมคณะทำงานพัฒนาประเด็น “การสร้างโอกาสและมูลค่าร่วมใน Silver Economy” ครั้งที่ 1/2568 ซึ่งมี นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธานคณะทำงานฯ เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางการดำเนินงานพัฒนาประเด็นดังกล่าว ก่อนเตรียมบรรจุเข้าเป็นระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 – 28 พ.ย. 2568 ต่อไป
สำหรับการพัฒนาประเด็น “การสร้างโอกาสและมูลค่าร่วมใน Silver Economy” มีจุดเริ่มต้นจากการนำเสนอข้อมูลต่อสาธารณะของสภาพัฒน์ฯ ในกิจกรรมตลาดนัดนโยบาย ภายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 โดยสภาพัฒน์ฯ ได้ชวนมองถึงทิศทางของเศรษฐกิจสูงวัย รวมถึงโอกาสและความท้าทายในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม โดยได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) พ.ศ. 2567-2568 ให้เป็นหนึ่งในประเด็นที่จะพัฒนาเข้าสู่เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานฯ ขึ้นในวันที่ 18 มี.ค. 2568 ซึ่งมีองค์ประกอบของตัวแทนทั้งจากภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจ และการดูแลผู้สูงอายุ ฯลฯ มาร่วมทำหน้าที่พัฒนาเอกสารร่างระเบียบวาระ และจัดกระบวนการมีส่วนร่วมต่างๆ
นางสาววรวรรณ เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้กลายเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ ผนวกกับอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลให้เกิดภาวะการขาดแคลนแรงงาน จนกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่รายจ่ายของรัฐในการจัดสวัสดิการสังคมเพื่อดูแลผู้สูงวัย นับวันมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น
ขณะเดียวกันจากรายงานข้อมูลตัวเลขพบว่า ผู้สูงอายุกว่า 1 ใน 3 หรือราว 35.7% มีแหล่งรายได้หลักจากเงินช่วยเหลือของบุตรหลาน และอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังคงมีรายได้หลักจากการทำงาน รวมถึงต้องทำงานหาเงินจากหลากหลายช่องทาง เพราะรายได้หลักจากงานที่ทำอยู่เดิมไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต แต่อย่างไรก็ตามท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้น ก็ก่อให้เกิดโอกาสจากระบบเศรษฐกิจสูงวัย หรือ Silver Economy
นางสาววรวรรณ กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ถือเป็นครั้งแรกของคณะทำงานฯ ซึ่งได้ร่วมกันพิจารณาถึงทิศทางและขอบเขตการพัฒนาประเด็นการสร้างโอกาสและมูลค่าร่วมใน Silver Economy บนฐานคิดที่ว่าจะสามารถสร้างศักยภาพให้ผู้สูงอายุมีชีวิตที่ยืนยาว โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร ซึ่งในที่นี้หมายถึงผู้สูงอายุทั้งที่อยู่ในฐานะผู้ผลิตและยังคงทำงานหารายได้ กับผู้สูงอายุที่เกษียณตัวเองจากการทำงานและอยู่ในฐานะผู้บริโภค
สำหรับกรณีของผู้สูงอายุที่ยังคงทำงาน จะต้องมองในเชิงของการรวมกลุ่มเพื่อสร้างหลักประกันที่มั่นคงในชีวิต ผ่านสหกรณ์การรวมกลุ่ม การส่งเสริมเรื่องของการออม เป็นต้น ขณะที่ผู้สูงอายุที่เป็นผู้บริโภค จะต้องเข้าไปส่งเสริมเรื่องสินค้าและบริการ ซึ่งทางคณะทำงานฯ ได้เห็นร่วมกันถึงช่องว่างการได้รับบริการทางสุขภาพของผู้สูงอายุ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ทำให้บางคนอาจเข้าไม่ถึง ดังนั้นจึงมองไปที่รูปแบบการดูแลสุขภาพโดยคนในครอบครัว เสริมศักยภาพให้คนในครอบครัวสามารถดูแลผู้สูงอายุ ไปพร้อมกับการทำงานที่บ้านได้ นอกจากนี้ยังยกระดับบุคลากรผู้ให้บริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิ เช่น ผู้บริบาลผู้สูงอายุ ผู้ดูแล (Caregiver) ฯลฯ
“ทั้งหมดนี้คือหลักการและทิศทางที่หารือร่วมกันในเบื้องต้น แต่เราอยากเลือกประเด็นที่มันสามารถทำให้เกิดผลได้รวดเร็ว (Quick Win) จึงต้องกลับไปทำข้อมูลให้ชัดเจนขึ้น เพื่อดูว่าเรื่องไหนมีใครทำอะไรจนก้าวหน้าไปแล้วบ้าง จะได้ไม่ต้องไปทำซ้ำ แล้วเลือกประเด็นในแง่มุมใหม่ๆ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือเรื่องของการสื่อสารระหว่างผู้มีหน้าที่ในการขับเคลื่อนเรื่องผู้สูงอายุ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานภายใต้คณะทำงานฯ กลับไปทำข้อมูลเพื่อนำมาคุยกันอีกครั้งในช่วงเดือน พ.ค. ก่อนจะมีการจัดเวทีเสวนานโยบายสาธารณะ (Policy Forum) เพื่อถกแถลงและกำหนดขอบเขตประเด็นร่วมกันต่อไป” ประธานคณะทำงานฯ กล่าว
ขณะที่ นางจุฑามาศ โมฬี ผู้อำนวยการสำนักนโยบายสาธารณะภาคเหนือ สช. ในฐานะเลขานุการคณะทำงานฯ กล่าวว่า เศรษฐกิจสูงวัย หรือ Silver Economy และระบบนิเวศเศรษฐกิจสูงวัย คือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ตอบสนองความจำเป็นและความต้องการของผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการที่ผู้สูงอายุใช้จ่ายโดยตรง รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการทำงานของผู้สูงอายุ ดังนั้นผู้สูงอายุจึงมีบทบาททั้งในฐานะผู้บริโภค ที่มีความต้องการสินค้าและบริการเพื่อการดำรงชีวิต และในฐานะผู้ผลิต ที่มีส่วนร่วมในการสร้างสินค้าและบริการให้กับสังคม
ในส่วนของการส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจสูงวัย สามารถแบ่งออกมาได้เป็น 2 เสาหลัก ได้แก่ ผู้สูงอายุในฐานะผู้ผลิต คือการนำเอาองค์ความรู้ ประสบการณ์ และศักยภาพของผู้สูงอายุเข้ามาร่วมเป็นปัจจัยในการผลิตสินค้าและบริการ ต่อมาคือผู้สูงอายุในฐานะผู้บริโภค คือการเน้นผลิตสินค้าและบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุ
ด้าน นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมของคณะทำงานฯในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่เรียกว่า ‘ขาขึ้น’ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการกำหนดประเด็นและจัดทำวาระนโยบาย ผ่านกระบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเวที Policy Forum, สมัชชาสุขภาพจังหวัด, เวทีรับฟังความคิดเห็นในระดับจังหวัด ภูมิภาค และระดับประเทศ ฯลฯ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม ก่อนเข้าสู่การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 ในช่วงปลายปี 2568 และนำไปสู่การนำนโยบายไปปฏิบัติซึ่งเรียกว่า ‘ขาเคลื่อน’ โดยหลังจากนี้ก็ยังจะมีการเพิ่มเติม ‘ขาประเมิน’ ขึ้นเพื่อกำกับติดตามให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่มากขึ้นด้วย