สธ.ตาก เผย ปัญหาภาระงานพื้นที่ชายแดน “รมว.สมศักดิ์” สั่งเร่งขยายเก็บอัตลักษณ์ม่านตา พร้อมดันเข้า ครม. ระยะยาวเดินหน้าตั้ง ก.สธ. บริหารบุคลากรเอง

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก แจงภาระงานพื้นที่ชายแดนสูงกว่าพื้นที่อื่นจากประชากรต่างด้าว แต่ประมาณการณ์ได้ยาก เหตุมีการเคลื่อนย้ายตลอด เผย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เร่งแก้ไขปัญหา โดยระยะสั้น ตั้งคณะกรรมการร่วม ขยายระบบลงทะเบียนสุขภาพต่างด้าวด้วยการเก็บอัตลักษณ์ม่านตาให้ครอบคลุม ช่วยมีหลักประกันสุขภาพ ลดภาระภาษีคนไทย เตรียมเสนอเข้าสู่ ครม. ส่วนระยะยาวเดินหน้าตั้ง ก.สธ.บริหารบุคลากรเอง

วันที่ 23 มีนาคม 2568 นพ.พิทักษ์พงษ์ จันทร์แดง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก กล่าวถึงภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในสถานบริการพื้นที่ชายแดน ซึ่งสูงกว่าพื้นที่อื่นมากเนื่องจากต้องให้การดูแลประชากรต่างด้าวทั้งเรื่องรักษาพยาบาลและการป้องกันควบคุมโรค ว่า จากรายงานของสภาการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ หากคิดเฉพาะประชากรไทย อัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรของจังหวัดตาก อยู่ที่ 1 : 2,864 ซึ่งสูงกว่าพื้นที่ทั่วไปอยู่แล้ว หากนำประชากรที่ไม่ใช่คนไทยมาคำนวณด้วยอัตราส่วนจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 : 5,122 อย่างไรก็ตาม การคิดคำนวณอัตราส่วนที่แท้จริงทำได้ยาก เพราะประชากรที่ไม่ใช่คนไทยมีการเคลื่อนย้ายตลอด รวมทั้งยังมีแพทย์ของสถานพยาบาลเอกชนและองค์กรต่างประเทศให้บริการผู้ป่วยต่างด้าวในพื้นที่อีกจำนวนหนึ่ง

นพ.พิทักษ์พงษ์กล่าวต่อว่า อัตรากำลังทั้งแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ของโรงพยาบาลแม่สอดถือว่ายังขาดอยู่ โดยเฉพาะภาระงานของแผนกอายุรกรรมพบว่าสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ แม้ในภาพรวมอัตราส่วนการเข้ารับบริการทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในต่อแพทย์ทั้งหมดจะไม่แตกต่างจากพื้นที่อื่น ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับทราบปัญหาและให้เร่งหาแนวทางแก้ไข โดยในระยะสั้นได้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด และนำระบบลงทะเบียนสุขภาพด้วยอัตลักษณ์ม่านตาเพื่อระบุตัวตน (Biometrics) ของสภากาชาดไทยมาใช้ เพื่อให้ต่างชาติที่เข้ามารักษาหรือทำงานได้มีหลักประกันสุขภาพและลดภาระภาษีของคนไทย รวมทั้งได้ข้อมูลประชากรต่างด้าวที่เข้ามาใช้บริการอย่างถูกต้อง เห็นภาระงานที่ชัดเจนและแก้ปัญหาได้ตรงจุด ปัจจุบันเก็บอัตลักษณ์ต่างด้าวไปแล้ว 7,616 คน และจะมีการเร่งรัดนำเรื่องนี้เสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ขณะเดียวกันมีการลดภาระงาน เช่น การใช้ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) การใช้กลไกของศูนย์เรียนรู้สุขภาพชายแดนช่วยเรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพต่างด้าว เป็นต้น ส่วนในระยะยาวมีแผนยุทธศาตร์กำลังคน โดยเฉพาะการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข (ก.สธ.) หรือร่างกฎหมายแยกตัวออกจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งจะทำให้สามารถบริหารบุคลากรรองรับความต้องการบริการสุขภาพของคนไทย/ต่างชาติได้อย่างคล่องตัว สอดคล้องตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ไม่เป็นภาระงบประมาณ ส่งผลให้ระบบดูแลสุขภาพของประเทศมีความยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ