สช. จัดประชุมคณะกรรมการฯ วางแนวทางพัฒนา “ตัวชี้วัด” สู่การจัดทำ “รายงานสถานการณ์ระบบสุขภาพไทย” ฉบับแรกของไทย เดินหน้าสกัดข้อมูล 12 หมวดครอบคลุมทุกมิติของระบบสุขภาพ คาดเดือน ก.ย. นี้แล้วเสร็จ ใช้เป็นแนวทาง-ข้อเสนอ คสช.-ครม.-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2568 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมคณะกรรมการจัดทำและติดตามรายงานสถานการณ์ระบบสุขภาพไทย ครั้งที่ 1/2568 โดยมี นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน และ นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เป็นเลขานุการ เพื่อร่วมกันติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานจัดทำ “รายงานสถานการณ์ระบบสุขภาพไทย” ฉบับแรก รวมทั้งพิจารณาการพัฒนาตัวชี้วัดในแต่ละหมวด เพื่อให้สะท้อนถึงการดำเนินงานภายใต้ระบบสุขภาพของประเทศไทย
สำหรับการจัดทำ “รายงานสถานการณ์ระบบสุขภาพไทย” ได้ถูกกำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เป็นหน้าที่และอำนาจของ คสช. ในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการติดตามและประเมินผลเกี่ยวกับระบบสุขภาพแห่งชาติเพื่อจัดทำเป็นรายงาน โดยเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 คสช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำและติดตามรายงานสถานการณ์ระบบสุขภาพไทย เพื่อเดินหน้าสำรวจ ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เพื่อจัดทำเป็นรายงานสถานการณ์ระบบสุขภาพไทย รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะต่อ คสช. คณะรัฐมนตรี (ครม.) และหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องต่อไป
นพ.วิชัย เปิดเผยว่า ขณะนี้ทาง สช. กำลังเดินหน้าจัดทำรายงานสถานการณ์ระบบสุขภาพไทย ซึ่งจะเป็นฉบับแรกนับตั้งแต่ที่มี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ โดยรายงานดังกล่าวจะมีความแตกต่างจากรายงานฉบับอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็น รายงานการสาธารณสุขไทย ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หรือ รายงานสุขภาพคนไทย ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ฯลฯ เพราะจะเป็นการมุ่งไปที่ภาพรวมของระบบสุขภาพตามที่ได้มีการนิยามเอาไว้ภายใต้ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565 ที่มุ่งให้เกิดระบบสุขภาพที่เป็นธรรม รวมถึงรายงานฉบับนี้ยังมีการกำหนดตัวชี้วัดที่มาจากกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีข้อเสนอเชิงนโยบาย และความต่อเนื่องในการรายงานสถานการณ์ฯ เรื่องต่างๆ เสนอต่อ คสช. ครม. กลไกหรือหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้อง และต่อสาธารณะ
ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาตัวชี้วัดและจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพ ซึ่งอ้างอิงตามเป้าหมายและมาตรการของธรรมนูญฯ ที่ถูกแบ่งไว้ใน 12 หมวด ได้แก่ 1. การสร้างเสริมสุขภาพ 2. การป้องกันและควบคุมโรคและปัจจัยคุกคามสุขภาพ 3. การบริการสาธารณสุขและควบคุมคุณภาพ 4. การส่งเสริมสนับสนุนการใช้และการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ 5. การสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสุขภาพ 6. การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ 7. การสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพ 8. การผลิตและการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ 9. การเงินการคลังด้านสุขภาพ 10. สุขภาพจิต 11. สุขภาพทางปัญญา 12. ระบบสุขภาพชุมชนเมือง
นพ.วิชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาตัวชี้วัด ติดตาม และจัดทำรายงานฯ ในรายหมวดต่างๆ ซึ่งมีความคืบหน้าไปเป็นลำดับ โดยความก้าวหน้าที่สุดขณะนี้มีอยู่ 4 หมวด ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในการพัฒนาตัวชี้วัด คือ หมวดการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ หมวดการผลิตและการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ หมวดการเงินการคลังด้านสุขภาพ และระบบสุขภาพชุมชนเมือง โดยการพัฒนาตัวชี้วัดของทั้ง 4 หมวดนี้ จะนำไปใช้เป็นต้นแบบให้กับอีก 8 หมวดที่เหลือต่อไป
“เนื่องจากเป็นการจัดทำรายงานสถานการณ์ระบบสุขภาพไทย ฉบับแรก จึงต้องใช้เวลาในการเริ่มต้น แต่น่าจะแล้วเสร็จได้ภายในช่วงเดือน ก.ย. 2568 และเบื้องต้นได้กำหนดร่วมกันไว้ว่าจะมีการจัดทำทุก 3 ปี ซึ่งการจัดทำรายงานสถานการณ์ฯ ฉบับต่อไปก็จะสามารถต่อยอดต่อไปได้ โดยไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ ส่วนการพัฒนาตัวชี้วัดนอกจากที่จะไปเทียบกับเป้าหมายและมาตรการตามธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 แล้ว ยังมีการไปเชื่อมกับเป้าหมายหรือตัวชี้วัดในระดับสากล เช่น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) องค์การอนามัยโลก (WHO) ฯลฯ” นพ.วิชัย กล่าว
ด้าน ดร.ทิพิชา โปษยานนท์ รองเลขาธิการ คสช. และผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการฯ กล่าวว่า ในส่วนของการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งนี้ คณะผู้วิจัยของทั้ง 4 หมวด ได้มาร่วมนำเสนอข้อมูลการดำเนินงานพัฒนาตัวชี้วัด เพื่อนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากที่ประชุมไปปรับปรุงแก้ไขตามความเหมาะสม และพร้อมที่จะเป็นต้นแบบให้กับ 8 หมวดที่เหลือสามารถทำงานตามแนวทางเดียวกันได้ง่ายขึ้น โดยการดำเนินงานของคณะผู้วิจัยทั้ง 4 หมวด ซึ่งเดินหน้าภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก สวรส. ประกอบด้วย
1. หมวดการเงินการคลังด้านสุขภาพ ดำเนินการโดย มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPF) เบื้องต้นได้พัฒนาตัวชี้วัดใน 4 ด้าน ตามหลัก S-A-F-E ประกอบด้วย ด้าน Sustainability (ความยั่งยืน) ด้าน Adequacy (ความเพียงพอ) ด้าน Fairness (ความเป็นธรรม) และด้าน Efficiency (ความมีประสิทธิภาพ) รวม 15 ตัวชี้วัด
2. หมวดการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ ดำเนินการโดย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) เบื้องต้นได้พัฒนาตัวชี้วัดใน 3 ด้าน ประกอบด้วย จำนวนกำลังคนด้านสุขภาพในสาขาที่สำคัญ กำลังคนด้านสุขภาพในแต่ละสาขาวิชาชีพที่ได้รับใบอนุญาตวิชาชีพ และกำลังคนด้านสุขภาพในสาขาที่สำคัญมีการกระจายตัวตามภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม รวม 9 ตัวชี้วัด
3. หมวดระบบสุขภาพชุมชนเมือง ดำเนินการโดย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เบื้องต้นได้พัฒนาตัวชี้วัดใน 6 ด้าน ประกอบด้วย ด้านสุขภาพมารดาและอนามัยเจริญพันธุ์ ด้านสุขภาพทารกแรกเกิดและเด็ก ด้านโรคติดต่อ ด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ด้านสุขภาพจิต การใช้สารเสพติด และการบาดเจ็บ ด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และปัจจัยกำหนดสุขภาพทางสังคมอื่นๆ รวม 26 ตัวชี้วัด
4. หมวดการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ดำเนินการโดย มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา (มสพ.) เบื้องต้นได้พัฒนาตัวชี้วัดใน 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านกลไกกฎหมายและการบังคับใช้ ด้านการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพ ด้านการชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการบริโภคและการรับบริการ ด้านการสร้างเสริมศักยภาพองค์กรผู้บริโภคและผู้บริโภค และด้านการพัฒนาฐานข้อมูลแจ้งเตือนภัย รวม 13 ตัวชี้วัด