สปสช. รับยื่นหนังสือร้องเรียน 2 สส. กทม. เตรียมตรวจสอบ “คลินิกบัตรทอง จำกัดการส่งต่อผู้ป่วย”

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 – นางสาวภัสริน รามวงศ์ ส.ส. กรุงเทพมหานคร เขต 7 (บางซื่อ-ดุสิต) เข้ายื่นหนังสือเพื่อร้องเรียนกรณีการส่งต่อผู้ป่วยจากหน่วยบริการปฐมภูมิตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) และนายเอกราช อุดมอำนวย ส.ส. กรุงเทพมหานคร เขตดอนเมือง เข้ายื่นหนังสือขอให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาศึกษาและทบทวนการส่งต่อผู้ป่วยในพื้นที่เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ ไปยังโรงพยาบาลเฉพาะทางในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยยื่นเรื่องถึงเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งมี นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นผู้รับหนังสือร้องเรียนในครั้งนี้ พร้อมด้วยตัวแทนผู้ป่วยสิทธิบัตรทองกว่า 10 คนที่ร่วมให้ข้อมูลปัญหาการรับบริการที่เกิดขึ้น

นพ.วีระพันธ์ ระบุว่า จากข้อมูลที่ได้รับจาก ส.ส. และผู้ป่วยในวันนี้ พบว่ามีรายชื่อคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ประชาชนพบปัญหาในการใช้สิทธิบัตรทองเข้ารับบริการ รวมถึงการให้บริการที่ไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้น สปสช. จะลงพื้นที่ตรวจสอบคลินิกฯ ดังกล่าว โดยจะเชิญทีมของ ส.ส. ทั้ง 2 เขตร่วมลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับคลินิกด้วยกัน อย่างไรก็ดี สปสช. ขอความร่วมมือจากคลินิกต่างๆ ว่าไม่ควรกระทำเช่นนี้ เนื่องจาก สปสช. ได้โอนงบเหมาจ่ายสำหรับผู้ป่วยนอกไปแล้ว หากคลินิกไม่ดูแลผู้ป่วย หรือให้บริการที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจเข้าข่ายความผิดทางกฎหมาย ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกันกำกับดูแลเพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ป่วย

ในส่วนของปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลนั้น นพ.วีระพันธ์ ยอมรับว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตอนเหนือ ยังขาดโรงพยาบาลรองรับผู้ป่วย ซึ่งที่ผ่านมา สปสช. ได้พยายามประสานงานให้โรงพยาบาลที่มีอยู่รับส่งต่อผู้ป่วยเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง บางแห่งเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง เช่น โรงพยาบาลที่จัดตั้งเพื่อดูแลทหาร หรือโรงพยาบาลที่เน้นงานวิจัย อย่างไรก็ดี จากการประสานงานที่ผ่านมา มีโรงพยาบาลบางแห่งที่เริ่มเปิดรับผู้ป่วยเพิ่มขึ้นแล้ว รวมถึงอยู่ระหว่างการประสานให้โรงพยาบาลราชวิถี 2 รองรับผู้ป่วยเพิ่มเติม นอกจากนี้ จำเป็นต้องมีแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาว เช่น การสร้างโรงพยาบาลรองรับเพิ่มเติม ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานท้องถิ่นหรือรัฐบาลต่อไป