เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 เวลา 13.30 น. นายธาดา เศวตศิลา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์การส่งเสริมคุณธรรมในสังคมไทย ครั้งที่ 1/2568 ณ ห้องประชุมกรมการศาสนา ชั้น 2 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม โดยมี นายประภาส แก้วสวรรค์ ผู้อำนวยการกองพัฒนามาตรฐานการส่งเสริมคุณธรรม ในฐานะผู้แทนฝ่ายเลขานุการ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมประชุมทั้งในรูปแบบ Onsite และ Online เพื่อวางกรอบแผนการดำเนินงานการขับเคลื่อนด้านประชาสัมพันธ์การส่งเสริมคุณธรรมในสังคมไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
นายธาดา เศวตศิลา เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกรอบแผนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์การส่งเสริมคุณธรรมในสังคมไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยเน้น 6 ยุทธศาสตร์ คือ “บอกให้รู้” “ชูประเด็น” “เสนอความเห็น” “เน้นบันเทิงใจ” “ให้ข้อคิด” “นำให้ลงมือทำ” ในการประชาสัมพันธ์การส่งเสริมคุณธรรมในสังคมไทย ซึ่งดำเนินการผลิตสื่อส่งเสริมคุณธรรม 5 ประการ โดยเน้นคุณธรรมที่ต้องการส่งเสริมเร่งด่วน ผลิตเป็นภาพยนตร์สั้นที่อ้างอิงจากเรื่องจริงเช่น “กตัญญู” “สุจริต” หรือ “พอเพียง” และจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมในสังคม โดยสร้างสรรค์เรื่องราวที่สะท้อนคุณธรรม 5 ประการ หรือการทำความดีในชีวิตประจำวัน และกำหนดแฮชแท็กที่ต้องใส่เพื่อให้การเผยแพร่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น #คุณธรรมแห่งชาติ #คุณธรรม5ประการ #1ล้านความดี #ชีวิตที่ดี #ชีวิตที่มีคุณธรรม #ไม่เอาเปรียบ #ไม่ละเมิดสิทธิ์ #ไม่ก้าวร้าว #อาชีพสุจริต อีกทั้งแผนการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2568 จะดำเนินการพัฒนาแอปพลิเคชัน หรือเกมคุณธรรมเสมือนจริง (AR/VR) ภายใต้แนวคิด “ท่องโลกคุณธรรม” ส่งเสริมคุณธรรมโดยใช้สื่อและเทคโนโลยีในการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่สนุกสนาน ที่นำผู้เล่นไปเรียนรู้เกี่ยวกับคุณธรรมต่าง ๆ ทั้ง 5 คุณธรรม (พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา กตัญญู) ในสภาพแวดล้อมที่เป็นเรื่องราวของสถานการณ์จำลองที่ต้องใช้คุณธรรมในการตัดสินใจ เช่น การช่วยเหลือคน การตัดสินใจในเรื่องความซื่อสัตย์ หรือการทำดีในชีวิตประจำวัน และเห็นชอบกรอบแนวทางการผลิตสื่อและประชาสัมพันธ์โดยมุ่งเน้นสร้างสื่อส่งเสริมพฤติกรรมด้านการควบคุมอารมณ์ ความสุจริต และความพอเพียงในเด็ก *ทั้งนี้ ในที่ประชุมเสนอให้ตั้งคณะทำงานเชิงยุทธศาสตร์ (War Room) เพื่อวางแผน สั่งการ ดำเนินการประชาสัมพันธ์และสื่อสารเชิงรุกให้เข้าถึงทุกภาคส่วนของสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติและสถานการณ์คุณธรรมในปัจจุบัน*
นายประภาส แก้วสวรรค์ ผู้อำนวยการกองพัฒนามาตรฐานการส่งเสริมคุณธรรม กรมการศาสนา ในฐานะผู้แทนฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์การส่งเสริมคุณธรรมในสังคมไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานตามกรอบแผนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์การส่งเสริมคุณธรรมในสังคมไทย ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยกรมการศาสนาในฐานะฝ่ายเลขานุการ ได้ดำเนินการดังนี้ 1. จัดทำและประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับคุณธรรมด้านความกตัญญู ในชื่อเพลง “กตัญญู อยู่ในใจไทยทุกคน” ความยาว 4 นาที ดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของกรมการศาสนา เช่น Website กรมการศาสนา (https://www.dra.go.th/) Facebook กรมการศาสนา (https://www.facebook.com/Drathai.go.th/) Instagram (IG) กรมการศาสนา (https://www.instagram.com/dra.go.th/) และ Twitter กรมการศาสนา (https://twitter.com/drathai) 2. ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ Infographic เกี่ยวกับคุณธรรม 5 ประการ หัวข้อ “สุจริต” หรือ “วินัย” หรือ “กตัญญู” เผยแพร่ทุกช่องทางสร้างการรับรู้แก่สาธารณชน 3. ผลิตมิวสิควิดีโอเพลง “ดูกันที่ใจ” ผ่านการนำเสนอของกลุ่มวัยรุ่นที่มีภาพลักษณ์แตกต่างกับพฤติกรรมที่แสดงออกถึงคุณธรรมทั้ง 5 ประการ 4. คลิปชุมชนคุณธรรมต้นแบบโดดเด่น ประจำปี พ.ศ. 2567 หรือ “10 ชุมชนต้นแบบ” ความยาวไม่น้อยกว่า 1 นาที จำนวน 10 ชุมชน ชุมชนละ 3 คลิป รวมจำนวน 30 คลิป 5. จัดกิจกรรมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับคุณธรรม ร่วมกับศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) จัดงานสมัชชาคุณธรรมและการประชุมติดตามผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัด ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ระดับภูมิภาค 4 ภูมิภาค ได้แก่ กาฬสินธุ์ ลำปาง ระยอง และชุมพร 6. บูรณาการความร่วมมือกับโรงเรียนพงษ์สวัสดิ์ จัดทำสื่อส่งเสริมคุณธรรมโดยเยาวชน เพื่อประชาสัมพันธ์การส่งเสริมคุณธรรมในเด็กและเยาวชน การประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการวางแผนงานประจำปี แต่เป็นการวางรากฐานการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วยพลังแห่งคุณธรรม โดยมุ่งหวังให้เกิด “แรงกระเพื่อม” ที่จะส่งผลต่อพฤติกรรมของคนในสังคมอย่างกว้างขวาง การผลิตสื่อที่สะท้อนเรื่องราวจากชีวิตจริง รวมทั้งการสร้างสรรค์แอปพลิเคชันส่งเสริมด้านคุณธรรม และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการผลิตสื่อ ล้วนเป็นกลยุทธ์ที่ออกแบบมาเพื่อจุดประกายความคิดและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนหันมาใส่ใจเรื่องคุณธรรมในชีวิตประจำวันอย่างจริงจัง เผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ จะช่วยสร้างกระแสคุณธรรมให้แผ่ขยายไปในวงกว้าง และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ยั่งยืน