วันที่ 18 กันยายน 2562 นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี และ นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดินทางลงพื้นที่ติดตามและขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการฯ ในเขตพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ โดยมี นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง กรมชลประทาน และเจ้าหน้าที่กรมชลประทานร่วมให้การต้อนรับพร้อมบรรยายสรุปโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดจนพบปะราษฎรในพื้นที่ที่มาให้การต้อนรับ ณ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ
สำหรับจังหวัดชัยภูมิถือเป็นแหล่งต้นน้ำ โดยลุ่มน้ำชีตอนบนมีพื้นที่รับน้ำฝน 13,549 ตร.กม. มีปริมาณฝนรายปีเฉลี่ย 1,080 มม. มีน้ำท่ารายปีเฉลี่ย 2,857 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำท่าในช่วงฤดูฝนร้อยละ 88 มีพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 5.043 ล้านไร่ ความต้องการน้ำในปัจจุบันมีประมาณ 650 ล้าน ลบ.ม. และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น แต่พบว่ามีความจุเก็บกักรวมประมาณ 334 ล้าน ลบ.ม จึงเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำชีตอนบนเป็นประจํา ล่าสุดได้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำรุนแรงในปี พ.ศ. 2562 กรมชลประทานจึงเร่งดำเนินการในระยะเร่งด่วนจำนวน 4 โครงการด้วยกัน ได้แก่ อ่างเก็บน้ำโปร่งขุนเพชร อ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และอ่างเก็บน้ำพระอาจารย์จื่อ (ลำกระจวน) ซึ่งถ้าหากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำได้อีกประมาณ 194.10 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ โครงการอ่างเก็บน้ำลำนี้ชี ฯ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระพระราชดำริ ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า “เขื่อนเก็บกักน้ำลําน้ำชี กรมชลประทานได้วางโครงการจะก่อสร้างขึ้นนั้น มีปัญหาเรื่องที่ดินภายในอ่างเก็บน้ำมาก จึงควรพิจารณาเลื่อนเขื่อนเก็บกักน้ำลําน้ำชีมาก่อสร้างใต้ลงไป และพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหรือฝายทดน้ำบริเวณต้นน้ำลำน้ำชี และตามลําน้ำสาขาต่างๆของลําน้ำชี เพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือราษฎรหมู่บ้านต่างๆในพื้นที่ที่จะเป็นอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีเดิมให้สามารถมีน้ำทําการเพาะปลูกได้ทั้งในระยะฤดูฝน-ฤดูแล้ง และมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดปีด้วย”
กรมชลประทานได้สนองพระราชดําริโดยศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งออกแบบรายละเอียดและเตรียมความพร้อมในการก่อสร้างโครงการตามแนวพระราชดําริดังกล่าว แล้วเสร็จบางส่วน ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำลําสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดําริ อ่างเก็บน้ำลําน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดําริ (อ่างเก็บน้ำยางนาดี) อ่างเก็บน้ำลําเจียงอันเนื่องมาจากพระราชดําริ ฯลฯ ในส่วนของอ่างเก็บน้ำลําน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดําริ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบให้กรมชลประทานดําเนินการก่อสร้างหัวงานเขื่อนและอาคารประกอบ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2540 โดยมีความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 70.21 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเฉลี่ย 786 ล้าน ลบ.ม./ปี ระยะเวลาดําเนินการ 6 ปี (2562 – 2567) เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จจะมีพื้นที่รับประโยชน์ จำนวน 75,000 ไร่ ฤดูแล้ง 30,000 ไร่ จํานวน 2,959 ครัวเรือน 8,550 คน บรรเทาอุทกภัยบริเวณพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำ ทั้งยังเป็นแหล่งน้ำสนับสนุนสถานีสูบน้ำตามลําน้ำชี ตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อนในเขตพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ จนถึงจุดบรรจบลําน้ำพอง ในเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่นอีกด้วย
จากนั้น องคมนตรี และคณะฯ เดินทางไปยังโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการฯ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงต้องการช่วยเหลือราษฎรอำเภอหนองบัวแดงและอำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ให้มีน้ำใช้ทำการเกษตรและอุปโภคบริโภคตลอดปี โดยให้พิจารณาวางโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำสะพุง จังหวัดชัยภูมิ ให้มีความจุตามความเหมาะสม
กรมชลประทานได้สนองพระราชดำริโดยได้ศึกษาจัดทำรายงานเบื้องต้นโครงการฯ แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2537 และสำรวจ-ออกแบบ แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2541 แต่เนื่องจากบริเวณก่อสร้างโครงการเดิม มีพื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จึงได้พิจารณาพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อไม่ให้กระทบพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยในเดือน สิงหาคม 2560 ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้นําท้องถิ่น ประชาชนและกรมชลประทาน ได้ร่วมกันพิจารณาตําแหน่งที่ตั้งใหม่ บริเวณลําสะพุงตอนล่าง (บ้านนาเจริญ) เป็นผลทําให้ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ จํานวน 1,280 ไร่ และเขตป่าพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 จากจำนวน 668 ไร่ คงเหลือ 303 ไร่มีความจุที่ระดับเก็บกัก 46.90 ล้าน ลบ.ม. (ดําเนินการ 5 ปี 2562 – 2566)
และเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะส่งผลให้ราษฎร 5,000 ครัวเรือน มีแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค 4.20 ล้าน ลบ.ม./ปี ทั้งยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกในพื้นที่ชลประทานได้ 40,000 ไร่ และทําการเพาะปลูกในฤดูแล้งได้ 8,000 ไร่ มีน้ำใช้ในเกษตรกรรม 95.33 ล้าน ลบ.ม./ปี เกิดประโยชน์สุขให้กับประชาชนโดยทั่วถึงกัน