วันที่ 15 มีนาคม 2568 นางสาวพลอย ธนิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดชุมชนวัดศรีคุนเมือง (เชียงคาน) 1 ใน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี นายชัยพจน์ จรูญพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัดเลยและวัฒนธรรมจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หัวหน้าส่วนราชการ เครือข่ายทางวัฒนธรรม ศิลปินท้องถิ่น ชาวชุมชนวัดศรีคุนเมือง (เชียงคาน) และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ วัดศรีคุนเมือง อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ในโอกาสนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมคณะ ได้รับการต้อนรับ จากชาวชุมชนวัดศรีคุนเมือง ด้วยการนำเสนออัตลักษณ์ท้องถิ่นที่มีความโดดเด่นทุกมิติของชุมชนอย่างยิ่งใหญ่และเต็มไปด้วยความอบอุ่น ประกอบด้วย การแสดงต้อนรับ ชุด“ผาสาดลอยเคราะห์” จัดพิธีกรรมผาสาดลอยเคราะห์ ลอยผาสาดลอยเคราะห์ ริมแม่น้ำโขง รำวงย้อนยุคร่วมกับชุมชน รวมถึงการสาธิตผลิตภัณฑ์ ทางวัฒนธรรมของชุมชนและชิมอาหารพื้นถิ่น สาธิตอาหาร รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste ปี 2567 “เมี่ยงโค้นน้ำผักสะทอน” อีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้นั่งรถรางชมทัศนียภาพ เมืองเชียงคานยามค่ำคืน กราบสักการะพระประจำวัดที่สำคัญ ๆ ของชุมชน และถ่ายภาพเช็คอิน “อารามอร่าม” ณ วัดมัชฌิมาราม (วัดป่ากลาง) วัดมหาธาตุ วัดป่าใต้ และวัดท่าคก พร้อมเยี่ยมชมการสาธิตผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของชุมชน และชิมอาหารพื้นถิ่น ที่ชาวชุมชนจัดเตรียมไว้อย่างดี
นางสาวพลอย กล่าวว่า ชุมชนวัดศรีคุนเมือง (เชียงคาน) เป็นชุมชนที่มีศักยภาพ และความพร้อมในการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในทุกมิติ เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นจากสถาปัตยกรรมบ้านไม้โบราณ ที่ยังคงรักษารูปแบบดั้งเดิมได้อย่างดีเยี่ยม ล้อมรอบด้วยธรรมชาติของแม่น้ำโขงและภูเขา ทำให้ผู้มาเยือนสัมผัสได้ถึงความสงบและความเป็นธรรมชาติ ทั้งนี้ได้พัฒนาต่อยอดบ้านไม้เก่า และอาคารพาณิชย์โบราณ มาเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน ในรูปแบบ “ถนนคนเดินเชียงคาน” ให้นักท่องเที่ยวได้ชม ช้อป ชิม แชะ พร้อมทั้งอุดหนุนสินค้าในชุมชน สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน ชุมชนแห่งนี้มี “ภาษาไทเลย” เป็นภาษาถิ่นที่โดดเด่นต่างจาก ภาษาอีสานทั่วไป เป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น รวมถึงการถ่ายทอดวัฒนธรรมผ่านประเพณีท้องถิ่น อาทิ งานประเพณีออกพรรษา งานประเพณีสงกรานต์ที่เต็มไปด้วยสีสัน มีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย สร้างการมีส่วนร่วมให้กับนักท่องเที่ยว อาทิ กิจกรรมใส่บาตรข้าวเหนียว ที่นำเอาวิถีชีวิตของชุมชน มาปรับประยุกต์เพื่อเป็นกิจกรรมไฮไลท์ที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด กิจกรรมล่องเรือชมแม่น้ำโขง กิจกรรมการลอยผาสาดลอยเคราะห์ พิธีกรรมโบราณที่สืบต่อกันมานับร้อยปี นอกจากนี้ ชุมชนยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยงที่น่าสนใจ เช่น ภูทอก แก่งคุดคู้ สกายวอล์คเชียงคาน หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ เป็นต้น สำหรับสายบุญชวนไปกราบสักการะ เสริมสิริมงคล ณ วัดศรีคุนเมือง หรือ “วัดใหญ่” เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญ และอยู่คู่บ้านคู่เมืองมาเป็นเวลายาวนาน นอกจากนี้ ตลอดเส้นทางถนนคนเดินทอดยาวไปถึงชุมชนใกล้เคียง ยังมีวัดประจำคุ้มที่มีความสำคัญและโดดเด่น ด้วยสถาปัตยกรรมแบบล้านช้าง จำนวนหลายวัด นักท่องเที่ยวสามารถไหว้พระ 9 วัดได้ในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง ดื่มด่ำกับศิลปวัฒนธรรมที่สะท้อนผ่านสถาปัตยกรรม พระพุทธรูป สิม และภาพจิตรกรรมฝาผนังต่าง ๆ ภายในวัด ประกอบด้วย วัดศรีคุนเมือง วัดมหาธาตุ วัดโพนชัย วัดท่าคก วัดป่าใต้ วัดมัชฌิมาราม (วัดป่ากลาง) วัดท่าแขก วัดพระพุทธบาทภูควายเงิน วัดศรีพนมมาศ
นางสาวพลอย กล่าวอีกว่า ชุมชนแห่งนี้ได้มีการจัดทำสำรับชุมชนที่เป็นเมนูดั้งเดิมทำจากวัตถุดิบในชุมชน ที่นักท่องเที่ยวต้องลิ้มลอง ได้แก่ ข้าวปุ้นน้ำแจ่ว จุ่มนัว กุ้งเสียบ ข้าวจี่ ส้าปลาน้ำโขง ลาบปลาน้ำโขง เมี่ยงคำ เมี่ยงโค้น และตำซั๊วด๊องแด๊ง เป็นต้น มีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่สะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชน เช่น “ผ้าห่มนวม” งานหัตถกรรมในครัวเรือนที่อยู่คู่กับเชียงคานมาแต่ดั้งเดิม “มะพร้าวแก้ว” สินค้าภูมิปัญญาการถนอมอาหารที่ขึ้นชื่อ นอกจากนี้ ยังมีบริการโฮมสเตย์ที่หลากหลาย ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสวิถีชีวิตของชุมชนได้อย่างใกล้ชิด พร้อมเพลิดเพลินไปกับการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ในบรรยากาศที่อบอุ่นและเป็นกันเอง เชียงคานมีความโดดเด่น ด้านจัดการแหล่งท่องเที่ยวทำให้ได้รับรางวัล 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก หรือ Sustainable Destinations TOP 100 ปี 2563 และรางวัล Green Destinations Silver Award 2024 เป็นแห่งแรกในอาเซียน และแห่งที่ 3 ของเอเชีย
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 วธ.ได้ดำเนินการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง คัดเลือกชุมชนต้นแบบระดับจังหวัด ที่มีศักยภาพ ยกย่องเชิดชูเกียรติ ทำให้ปัจจุบันมีสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” รวม 40 ชุมชน ทั่วประเทศ โดยหลังจากการประกาศไปแล้วนั้น ด้านกระทรวงวัฒนธรรมได้มีการต่อยอด สนับสนุน ด้วยการสนับสนุนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาศักยภาพคนในชุมชนผ่านการอบรมผู้นำชุมชน นักเล่าเรื่อง และมัคคุเทศก์ท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์ดึงดูดนักท่องเที่ยว จากทั้งในประเทศและต่างประเทศมาเยี่ยมชมและเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น ตลอดจนจัดทำแพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน “เที่ยวเท่ ๆ เสน่ห์เมืองไทย” ให้นักท่องเที่ยวสามารถค้นหาข้อมูลการท่องเที่ยวในแต่ละชุมชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีความแม่นยำ ตามนโยบาย นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มุ่งขับเคลื่อน Soft Power โดยเฉพาะ ด้านเฟสติวัล – เทศกาลประเพณีและด้านท่องเที่ยวสนองนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป้าหมายของ วธ. ดำเนินการส่งเสริมคุณค่าและมูลค่าเทศกาลประเพณีของชาติและเทศกาลอื่นๆ ด้านวัฒนธรรมให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ให้แก่ประเทศไทยในเวทีนานาชาติ โดยมุ่งส่งเสริมเทศกาลประเพณีไทย เพื่อยกระดับสู่ระดับชาติและนานาชาติ มาต่อเนื่อง