วันที่ 15 มีนาคม 2568 นางสาวพลอย ธนิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เยี่ยมชมศูนย์วัฒนธรรมฅนไทดำ บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย และเป็นประธานพิธีเปิดโครงการ 1 อำเภอ 1 ลานสร้างสรรค์ “จิ๊มเจื่องกิ๋น อิ้นแก๊น ดินแดนไต๊ดำ” โดยมีนางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัดเลยและวัฒนธรรมจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หัวหน้าส่วนราชการ เครือข่ายทางวัฒนธรรม ประธานศูนย์วัฒนธรรมฅนไทดำ และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วม ณ ศูนย์วัฒนธรรมฅนไทดำ บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
ภายในงานมีนายกเทศบาลตำบลเขาแก้ว กล่าวต้อนรับ และวัฒนธรรมจังหวัดเลย กล่าวรายงาน จากนั้นประธานในพิธีเปิดงานด้วยการตีผางฮาด” (เครื่องดนตรีที่ทำจากโลหะมีรูปร่างลักษณะคล้ายฆ้อง) และรับชมการแสดงศิลปะและวัฒนธรรมพื้นบ้าน ชุดการแสดง “ตำนานผ้าลายนางหาญ” โดยโรงเรียนเขาแก้วพิทยาสรรพ์ นอกจากนี้ได้เยี่ยมชมกิจกรรมฟ้อนรำ การละเล่นพื้นบ้าน อาทิ โยนมะกอน การเล่นแจ่งแจ๊ะ หมากแหล้แป้น อีก๋อย เป็นต้น โดยนักเรียนชุมชนบ้านนาป่าหนาด กิจกรรม DIY ได้แก่ ดอกไม้ไทดำ หัวใจไทดำ โคมไฟไทดำ การเข็นฝ้าย สบู่สมุนไพรใบหนาด ชาสมุนไพร นวดสมุนไพร และการทอผ้า ร่วมกิจกรรมเรียนรู้ภาษาไทดำ ชิมอาหารพื้นถิ่น อาทิ จุ๊บผัก ซั่วไก่ ลาบมะเขือขื่น ป่ามไข่ ข้าวต้มมัด น้ำสมุนไพร เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ชุมชน
นางสาวพลอย กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายขับเคลื่อนตามนโยบาย Soft Power มุ่งหวังให้เกิดการขับเคลื่อนและพื้นที่สร้างสรรค์ด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ของชุมชน และเป็นพื้นที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ของคนในพื้นที่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเลย จึงบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรม ได้แก่ เทศบาลตำบลเขาแก้ว สภาวัฒนธรรมตำบลเขาแก้ว โรงเรียนเขาแก้วพิทยาสรรพ์ โรงเรียนบ้านนาป่าหนาด ผู้นำชุมชน เด็ก เยาวชน และประชาชน รวมจำนวนมากกว่า 200 คน จัดกิจกรรม “จิ๊มเจื่องกิ๋น อิ้นแก๊น ดินแดนไต๊ดำ” 1 อำเภอ 1 ลานสร้างสรรค์ จังหวัดเลย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยเปิดพื้นที่เพื่อเป็นแหล่งสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมที่แสดงถึงความเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการสร้างสรรค์งานวัฒนธรรม สร้างความภาคภูมิใจและตระหนักในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรม มีเป้าหมายร่วมกัน คือ “ชุมชนเป็นเจ้าของพื้นที่ด้านวัฒนธรรม” โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการทุกขั้นตอน ร่วมกันส่งเสริมการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ ของเด็กและเยาวชนประชาชน ที่มีความสนใจในมิติวัฒนธรรม เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม (Cultural Space) เป็นแหล่งเรียนรู้อันทรงคุณค่าของท้องถิ่น เหมาะสมต่อการพัฒนา และเปิดพื้นที่ให้เยาวชนใช้พื้นที่แสดงผลงานและสร้างสรรค์ทางมรดกภูมิปัญญา ศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดเลย นอกจากนี้ มีการเสริมสร้างรายได้จากสินค้า และบริการทางวัฒนธรรม ผ่านกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสแบบใกล้ชิด ประกอบด้วย การละเล่นพื้นบ้าน โยนมะกอน การเล่นแจ่งแจ๊ะ หมากแหล้แป้น อีก๋อย การฟ้อนรำ กิจกรรม DIY (ดอกไม้ไทดำ หัวใจไทดำ โคมไฟไทดำ สบู่สมุนไพรใบหนาด การเข็นฝ้าย และการทอผ้า ) กิจกรรมเรียนรู้ภาษาไทดำ กิจกรรมการสาธิตอาหารพื้นบ้าน ประกอบด้วย การสาธิตการทำ จุ๊บผัก ซั่วไก่ ลาบมะเขือขื่น ป่ามไข่ ข้าวต้มมัด น้ำสมุนไพร เป็นต้น
ทั้งนี้ ศูนย์วัฒนธรรมฅนไทดำ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำ อพยพมาจากเมืองเชียงขวางสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาอาศัยอยู่ที่บ้านนาป่าหนาด ปัจจุบันศูนย์วัฒนธรรมฅนไทดำเป็นสถานที่ที่มีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความเชื่อของชาวไทดำ พร้อมทั้งจัดกิจกรรมเสริม เช่น การเรียนรู้วิธีการทอผ้า การทำเครื่องประดับตกแต่ง เช่น ตุ้มนกตุ้มหนู โคมไฟไทดำ หัวใจไทดำ เป็นต้น นอกจากนี้กลุ่มชาติพันธุ์ไทดำมีลักษณะทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์และสามารถนำไปต่อยอดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวหรือการพัฒนาชุมชนได้ในหลายด้าน ได้แก่ ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำ มีการจัดหลักสูตรสอนภาษาไทดำให้กับเด็กเยาวชนและคนที่สนใจ ด้านการแต่งกายพื้นเมืองของไทดำ มีลวดลายและสีสันที่สวยงาม สวมใส่ในงานเทศกาลหรือการแสดงศิลปะพื้นบ้าน หรือสามารถพัฒนาเป็นสินค้าหรือของที่ระลึก การผลิตงานหัตถกรรมต่าง ๆ เช่น ผ้าทอมือ, เครื่องประดับพื้นเมือง ลวดลายพิเศษของไทดำ นำมาสร้างรายได้ที่มั่นคงและยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว สำหรับอาหารพื้นบ้านของไทดำ มีจุ๊บผัก แกงไก่ใส่หน่อไม้ส้ม แจ่วดำ และอาหารท้องถิ่นอื่นๆ ที่นักท่องเที่ยวสามารถมาชิมอาหารแบบดั้งเดิม นอกจากนี้จะได้สัมผัสประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและวิถีชีวิตของไทดำ เช่น การฟ้อนแคน การแซปาง เป็นต้น
ผ้าทอมือหรือที่ชาวไทดำเรียกว่า “ซิ่นนางหาญ” มรดกตกทอดที่ทำสืบต่อกันมากว่า 100 ปีนั้น มีลวดลายที่สวยงามและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างมาก ชาวไทดำจึงนิยมใช้ซิ่นนางหาญในการประกอบพิธีเสนเรือนจนถึงปัจจุบัน ซึ่งคำว่า “นางหาญ” ที่ชาวไทดำ บ้านนาป่าหนาด เรียกกันนั้น ก็หมายถึงความกล้าหาญ ความเด็ดเดี่ยว ของหญิงในตำนานคนที่สาม ที่กล้าทอผ้าซิ่นผืนดังกล่าวได้จนสำเร็จนั่นเอง นอกจากนี้ที่ศูนย์วัฒนธรรมฯ ดังกล่าว ยังมีผังตัวอักษรไทดำที่ เขียนบันทึกไว้สำหรับให้ผู้สนใจและนักท่องเที่ยวได้ศึกษา พร้อมทั้งซื้อหาของฝากฝีมือกลุ่มสตรีสหกรณ์ชาวไทดำ อาทิเช่น ผ้าทอมือ สบู่สมุนไพร ดอกไม้ประดิษฐ์ที่ทำจากไหมพรมหลากสี ติดไม้ติดมือกลับไปในราคาที่ไม่แพงอีกด้วย เบอร์ติดต่อ : Facebook : หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ บ้านนาป่าหนาด เวลาทำการ : 9.00-21.00 น. ช่วงเวลาแนะนำ : ตลอดทั้งปี ไฮไลท์ : การสาธิตวิธีการทอผ้าแบบชาวไทดำ และการเรียนรู้ตัวอักษร ภาษาไทดำ กิจกรรม : ชมวิถีชีวิตของชาวไทดำ ชมการสาธิตการทอผ้า และชมบ้านจำลองที่สร้างตามแบบบ้านโบราณในอดีต