รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย เขตสุขภาพที่ 4 เดินหน้าลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ต่อเนื่อง ตั้ง NCDs remission Clinic ในทุกหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่าย และ NCDs Prevention center ในสำนักงานสาธารณสุขอำเภอครบทุกอำเภอ ตั้งเป้าผู้ป่วยเบาหวานลดการใช้ยาได้อย่างน้อย ร้อยละ 10 พร้อมจัดอบรม “เบาหวานสงบได้ด้วย Lifestyle medicine” ให้กับบุคลากรสาธารณสุข และ อสม. สร้างความรู้ป้องกันการเกิดโรค NCDs ในอนาคต ล่าสุดผู้ป่วยเบาหวานดื้ออินซูลินที่เข้าคลินิกกว่า 14,000 คน โรคสงบ 774 คน หยุดยาได้ 825 คน
วันที่ 14 มีนาคม 2568 ที่ โรงแรมอิงธาร รีสอร์ท จ.นครนายก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมติดตามการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) “เบาหวานสงบได้ด้วย Lifestyle medicine เขตสุขภาพที่ 4” โดยมี นายชานน วาสิกศิร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก นพ.ปรีชา เปรมปรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4 ดร.นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดี กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นพ.อุดม อัศวุตมางกุร สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 4 ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค เจ้าหน้าที่ และ อสม.เข้าร่วม กว่า 1,800 คน
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า นโยบายคนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ของกระทรวงสาธารณสุข ที่มุ่งลดจำนวนผู้ป่วยโรค NCDs รายใหม่ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรัง และลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยในผู้ป่วยรายเก่า ด้วยการส่งเสริมให้มีการปรับพฤติกรรมสุขภาพ ขณะนี้มีผู้ที่รับรู้ข้อมูลการกินแบบนับคาร์บ แล้วกว่า 18 ล้านคน ทั่วประเทศ สำหรับเขตสุขภาพที่ 4 มีผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง รวมกันมากกว่า 1 ล้านคน ได้จัดตั้ง NCDs remission Clinic ในหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายครบทุกแห่ง และจัดตั้ง NCDs Prevention center ในสำนักงานสาธารณสุขอำเภอครบทุกอำเภอ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้สถานะสุขภาพของตนเอง สร้างความรอบรู้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และได้รับการคัดกรองสุขภาพอย่างทั่วถึง โดยมีเป้าหมายให้ผู้ป่วย NCDs ลดการใช้ยาได้อย่างน้อย ร้อยละ 10
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังได้จัดอบรม “เบาหวานสงบได้ด้วย Lifestyle medicine” ให้กับบุคลากรสาธารณสุข และ อสม. ซึ่งเป็นการนำเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle medicine) มาปรับใช้ ทั้งการกินอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกาย จัดการความเครียด นอนหลับให้เพียงพอ ลดละเลิกพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรค รวมถึงมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกในสังคมและครอบครัว เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรค NCDs ในอนาคต โดยมีผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เกิดจากร่างกายมีภาวะดื้ออินซูลิน เข้ารับบริการใน NCDs Remission Clinic 14,793 คน จากทั้งหมด 324,802 คน ล่าสุดมีผู้ป่วยที่โรคเข้าสู่ระยะสงบ 774 คน หยุดยาได้ 825 คน และน้ำหนักลดลง 764 คน
ด้าน นพ.ปรีชากล่าวว่า การดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของเขตสุขภาพที่ 4 มุ่งเป้าไปที่โรคเบาหวานเนื่องจากเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญ โดยมีผู้ป่วยเบาหวานอายุ 15 ปีขึ้นไป 331,895 คน ได้จัดการอบรม “เบาหวานสงบได้ด้วย Lifestyle medicine” ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 – มกราคม 2568 แยกเป็น บุคลากรสาธารณสุข 5 รุ่น และ อสม. ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย อีก 1 รุ่น โดยในครั้งนี้เป็นการประชุมติดตามผลการพัฒนาศักยภาพ รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความเข้าใจ ระหว่างบุคลากรสาธารณสุข และ อสม. เพื่อเกิดการบูรณาการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างยั่งยืน
โดยในงานมีการมอบป้ายและเครื่องมือสำหรับการดำเนินงาน NCDs Prevention Center ให้แก่ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ที่มีผลการดำเนินงานสูงสุดในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกลุ่มเสี่ยงโรค NCDs ให้กลับมาเป็นกลุ่มปกติในแต่ละจังหวัดของเขตสุขภาพที่ 4 ได้แก่ 1) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก 2) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี 3) สำนักงานสาธารณสุขอำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 4) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทมุธานี 5) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี 6) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี 7) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี และ 8) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง และมอบโล่รางวัลให้กับตัวแทน อสม. และเจ้าหน้าที่ ที่ร่วมดำเนินงาน NCDs Remission clinic ได้ผลงานสูงสุดของแต่ละจังหวัด ดังนี้ 1) โรงพยาบาลองครักษ์ จังหวัดนครนายก 2)โรงพยาบาลบางกรวย จังหวัดนนทบุรี 3) โรงพยาบาลวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 4) โรงพยาบาลลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี 5)โรงพยาบาลหนองม่วง จังหวัดลพบุรี 6) โรงพยาบาลแก่งคอย จังหวัดสระบุรี 7) โรงพยาบาลค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี และ 8) โรงพยาบาลอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง