“รองเลขาธิการ สทนช.” หารือ “ผู้ว่าฯ กระบี่” ติดตามพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาในพื้นที่เมืองกระบี่ เร่งป้องกันผลกระทบต่อประชาชนและธุรกิจท่องเที่ยว พร้อมพิจารณาหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมเพื่อเสริมความมั่นคงด้านน้ำในอนาคต
วันที่ 13 มีนาคม 2568 นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประชุมหารือร่วมกับ นายอังกูร ศีลาเทวากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ โครงการชลประทานกระบี่ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) สาขากระบี่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกระบี่ เป็นต้น เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ตาม 8 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/2568 ณ ศาลากลางจังหวัดกระบี่ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ หลังจากนั้น ลงพื้นที่สำรวจจุดติดตั้งระบบผลิตน้ำประปาแบบ Mobile Plant บริเวณคลองอินทนิน และการเตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบสำหรับการผลิตน้ำประปาของ กปภ.สาขากระบี่ บริเวณสระทับปริกและสถานีสูบน้ำคลองใหญ่ รวมทั้งจุดเตรียมแผนการดำเนินการสระหนองกก ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ (อบจ.) ตามลำดับ
รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ตามที่ สทนช. ได้คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2567/2568 ด้านอุปโภค-บริโภค ในเขต กปภ. 19 จังหวัด 23 สาขา และนอกเขต กปภ. (ประปาท้องถิ่น) 37 จังหวัด 271 อำเภอ 862 ตำบล โดยจังหวัดกระบี่ เป็นหนึ่งในพื้นที่เสี่ยงประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบสำหรับการผลิตน้ำประปา ประกอบกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกระบี่ ได้มีหนังสือร้องทุกข์ไปยังหน่วยงานต่างๆ ต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาในพื้นที่เมืองกระบี่ เนื่องจากปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำต้นทุนในการผลิตน้ำประปาของ กปภ.สาขากระบี่ ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2566 – เมษายน 2567 มีไม่เพียงพอจนถึงช่วงฤดูฝน ทำให้ต้องมีมาตรการจ่ายน้ำ 4 วัน หยุด 3 วัน ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนและธุรกิจการท่องเที่ยว
“กปภ.สาขากระบี่ มีแหล่งน้ำต้นทุนในการผลิตน้ำประปาโดยอาศัยคลองตามธรรมชาติ คือ คลองกระบี่ใหญ่และสระเก็บน้ำดิบบ้านทับปริก หากฝนไม่ตกติดต่อกันนานหลายเดือนจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในการผลิตประปา โดยในปีนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการวางแนวทางแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย กปภ.สาขากระบี่ เสริมกระสอบทรายยกระดับน้ำบริเวณจุดสูบน้ำคลองกระบี่ใหญ่, สูบน้ำดิบเติมสระเก็บน้ำดิบบ้านทับปริก เต็มความจุ 600,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.), ขุดลอกตะกอนทรายบริเวณจุดสูบน้ำคลองกระบี่ใหญ่และบริเวณวัดคลองใหญ่ และเช่าติดตั้งระบบผลิตน้ำ Compact Plant บริเวณคลองสน คลองอินทนิน และคลองหวายเล็ก สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกระบี่ จัดทำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงระดับหมู่บ้าน จังหวัดกระบี่ จัดทำ (ร่าง) คณะทำงานจัดทำแผนบูรณาการด้านน้ำจังหวัดกระบี่ รวมทั้ง อบจ.กระบี่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดเตรียมข้อมูลเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำ เพื่อเตรียมแจกจ่ายน้ำไว้คอยช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้งได้อย่างทันท่วงที” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าว
สำหรับจังหวัดกระบี่ มีความต้องการใช้น้ำผลิตประปา 1.25 ล้าน ลบ.ม./เดือน หรือ 3.75 ล้าน ลบ.ม./3 เดือน ในช่วงฤดูแล้งเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ทั้งนี้ สทนช. ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาว ดังนี้
1.เพิ่มความจุสระเก็บน้ำทับปริก มีพื้นที่ทั้งหมด 72 ไร่ ปัจจุบันขุดไปแล้ว 60 ไร่ คงเหลือพื้นที่ประมาณ 12 ไร่ โดย กปภ.สาขากระบี่ ได้ดำเนินการสูบน้ำจากคลองกระบี่ใหญ่มาเติมน้ำในสระ โดยมีโรงสูบน้ำบริเวณวัดคลองใหญ่ ทั้งนี้ หากดำเนินการขยายสระเก็บน้ำทับปริก จะต้องใช้วิธีเสริมคันรอบสระและขุดให้ลึกขึ้น จะสามารถเพิ่มความจุได้เป็น 1 ล้าน ลบ.ม. 2.แผนพัฒนาสระหนองกก โดย อบจ.กระบี่ พื้นที่ประมาณ 50 ไร่ ศักยภาพน้ำท่าประมาณ 1 ล้าน ลบ.ม. สามารถเก็บน้ำได้ประมาณ 700,000 ลบ.ม. ความลึก 10 เมตร (ม.) ซึ่งอยู่ห่างจากสระทับปริกประมาณ 4 กิโลเมตร เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำสำรองเพิ่มเติม
3.การเพิ่มเติมอาคารอัดน้ำเข้าระบบท่อในคลองกระบี่ใหญ่ มาเติมน้ำในสระเก็บน้ำทับปริกและสระหนองกก โดยแรงโน้มถ่วง จะทำให้สามารถบริหารจัดการน้ำต้นทุนได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 4.การนำน้ำจากสระคลองหวายเล็ก ซึ่งเป็นขุมเหมืองเดิม มาใช้ในการผลิตน้ำประปา เนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ มีปริมาณน้ำที่ความลึก 15 ม. (ความลึกสระประมาณ 40 ม.) สามารถกักเก็บปริมาณน้ำได้ 4 ล้าน ลบ.ม. และ 5.การพัฒนาแก้มลิงหนองทะเล โดยอยู่ระหว่างการออกแบบของกรมชลประทาน มีเป้าหมายในการเพิ่มศักยภาพการเก็บกักน้ำให้มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2 ล้าน ลบ.ม.
“หากแหล่งน้ำทั้ง 3 แห่ง คือ สระเก็บน้ำทับปริก สระหนองกก และสระคลองหวายเล็ก ปรับปรุงแล้วเสร็จ จะมีปริมาณน้ำรวมกว่า 5.7 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ ยังต้องมีการวางแผนในการเติมน้ำจากลำน้ำธรรมชาติเพิ่มในแหล่งน้ำต่างๆ ด้วย เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำสำรองในช่วงฤดูแล้ง ซึ่ง กปภ.สาขากระบี่ มีระบบในการนำน้ำดิบจากแหล่งน้ำป้อนเข้าโรงผลิต เพื่อให้ประชาชนเมืองกระบี่ มีน้ำอุปโภค-บริโภคใช้อย่างเพียงพอ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ช่วยฟื้นฟูศักยภาพแหล่งน้ำ และเป็นการสร้างความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย