สทนช. บูรณาการหน่วยงานด้านน้ำ สถาบันการศึกษา และองค์กรระดับประเทศ เดินหน้าจัดทำแพลตฟอร์มรู้รับปรับตัวจากภัยพิบัติด้านน้ำ พร้อมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการ เทคโนโลยี และประสบการณ์ เพื่อร่วมเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน
วันที่ 6 มีนาคม 2568 นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “โครงการจัดทำแพลตฟอร์มรู้รับปรับตัวจากภัยพิบัติด้านน้ำในประเทศไทย” (Flood Resilience Enhancement through Platform on Water Resilience and Disaster) โดยมี นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน, Mr. Kazuya Suzuki ผู้แทนจาก Japan International Cooperation Agency (JICA), Mr.Daisuke Maruichi ผู้แทนจาก Economic And Social Commission For Asia And The Pacific (ESCAP) พร้อมด้วยผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมทรัพยากรน้ำ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรธรณี กรมประชาสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมอมารี กรุงเทพฯ
รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า สทนช. ในฐานะหน่วยงานด้านนโยบายที่กำกับดูแลเรื่องนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ได้ร่วมเป็นองค์ประกอบคณะผู้แทนประเทศไทย ในคณะทำงานด้านอุทกวิทยา ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาและกรมชลประทาน ซึ่งเป็นคณะทำงานด้านที่ 2 ใน 4 ด้าน ภายใต้คณะกรรมการไต้ฝุ่น (The Typhoon Committee ;TC) ที่ประกอบไปด้วย 14 ประเทศสมาชิก โดยร่วมกับศูนย์กลางระหว่างประเทศเพื่อการจัดการความเสี่ยงและภัยจากน้ำ จากประเทศญี่ปุ่น หรือ ICHARM ได้เริ่มดำเนิน (Kick off) โครงการจัดทำแพลตฟอร์มรู้รับปรับตัวจากภัยพิบัติด้านน้ำในประเทศไทย เมื่อเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งประกอบด้วยการคาดการณ์ ประเมินความเสี่ยง แจ้งเตือน จนถึงสร้างความตระหนักรู้ให้แก่หน่วยงานปฏิบัติด้านการรับมือและประชาชนในพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำและร่วมเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และจะเป็นบันไดขั้นสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต
“เพื่อให้การดำเนินการตามกรอบความร่วมมือภายใต้โครงการดังกล่าว สามารถบูรณาการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำได้อย่างเป็นระบบ จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในวันนี้ เพื่อให้หน่วยงานด้านน้ำ สถาบันการศึกษา และผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมแบ่งปันข้อมูลแนวทางการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พร้อมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการ เทคโนโลยี นวัตกรรม รวมถึงแบ่งปันประสบการณ์และแนวทางการดำเนินงาน ซึ่งจะนำไปสู่แพลตฟอร์มการรู้รับปรับตัวจากภัยพิบัติด้านน้ำของประเทศไทยที่มีความสมบูรณ์และพร้อมใช้งานเพื่อพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนปีนี้ได้อย่างทันท่วงที” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าว
รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากอิทธิพลมรสุมและพายุที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากขยายพื้นที่เป็นบริเวณกว้างและเกิดซ้ำในระยะเวลาไม่นาน กระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ดังนั้น การรู้รับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในยุคปัจจุบัน การมีข้อมูลคาดการณ์และการประเมินความเสี่ยงที่แม่นยำ รวมทั้งมีแพลตฟอร์มหรือช่องทางในการแจ้งข้อมูลข่าวสารที่เป็นระบบและเข้าถึงง่ายจะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับหน่วยงานราชการและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการแจ้งเตือนภัยให้สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึงและทันต่อสถานการณ์ ลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นให้เหลือน้อยที่สุด
สำหรับคณะกรรมการไต้ฝุ่น (The Typhoon Committee ;TC) ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 14 ประเทศ และมีคณะทำงาน 4 คณะ ได้แก่ คณะทำงานด้านอุตุนิยมวิทยา (WGM) ด้านการฝึกอบรมและวิจัย (TRCG) ด้านอุทกวิทยา (WGH) และด้านการลดความเสี่ยงภัยพิบัติ (WGDRR) โดยมีการจัดประชุมเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ประเทศสมาชิกได้รับทราบถึงสถานการณ์พายุและการรับมือ ทั้งนี้ คณะทำงานด้านอุทกวิทยา โดย ICHARM เสนอโครงการ “Flood resilience enhancement through Platform on Water Resilience and Disasters” ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือด้านน้ำกับประเทศไทย ตามแผนปฏิบัติการระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อพัฒนาและปรับปรุงระบบสังเคราะห์แบบออนไลน์สำหรับรับมือและให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งจะบูรณาการองค์ความรู้ เทคโนโลยี และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติน้ำท่วม นำมาพัฒนาขีดความสามารถและส่งเสริมอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ผ่านทางออนไลน์ รวมทั้งร่วมมือกันเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่ท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนได้รู้เท่าทันและการจัดการภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับน้ำได้อย่างถูกต้อง