มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เดินหน้าปรับรูปแบบการศึกษาให้สอดคล้องกับแนวคิด “GLOCAL” ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างมาตรฐานสากลและความต้องการของท้องถิ่น เพื่อตอบรับกระแสโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งยกระดับศักยภาพของชุมชนในภาคใต้ของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตร การวิจัย และการสร้างบัณฑิตที่สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ พร้อมกับเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมท้องถิ่นไปสู่อนาคตอย่างยั่งยืน
จากบทความในเวปไซต์ ASEAN University Network (AUN) โดยคุณพิชัยยุทธ พันชานวัต Junior Programme Officer ของ AUN เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 ระบุถึงแนวคิด “Glocal” ในการศึกษาโอกาสและความท้าทายของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีว่า ในยุคที่มหาวิทยาลัยทั่วโลกให้ความสำคัญกับการจัดอันดับระดับนานาชาติ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และการดึงดูดนักศึกษาต่างชาติ แนวคิด “Glocal” ได้กลายเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ ขณะเดียวกันก็สามารถตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนได้ดีอีกด้วย ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้นำแนวคิดนี้มาใช้ในการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอน โดยไม่เพียงแต่มุ่งเน้นการพัฒนาทางวิชาการ แต่ยังส่งเสริมให้นักศึกษาเป็น “นักสร้างการเปลี่ยนแปลง” (change makers) ที่สามารถพัฒนาท้องถิ่นและก้าวสู่เวทีโลกได้อย่างมั่นใจ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ ได้แก่ หลักสูตรปริญญาโทด้านจิตวิทยา คณะศึกษาศาสตร์ ที่เน้นการวิจัยเชิงประยุกต์ นำองค์ความรู้จากนักวิชาการที่มีชื่อเสียงระดับสากลมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาสังคมและวัฒนธรรมในพื้นที่ได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ หลักสูตรปริญญาตรีสาขาอิสลามศึกษา คณะวิทยาการอิสลาม ยังส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเผยแพร่ศาสนา นักศึกษาจะได้พัฒนาทักษะด้านสื่อออนไลน์ การตัดต่อวิดีโอ และการออกแบบกราฟิก เพื่อสร้างเนื้อหาทางศาสนาที่ทันสมัยและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น แนวทางดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยฯ ในการใช้เครือข่ายนานาชาติเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของท้องถิ่น และทำให้มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางความรู้ที่ไม่เพียงแต่ให้บริการแก่ชุมชน แต่ยังเชื่อมโยงกับโลกภายนอกได้อย่างสมดุล
เนื้อหาในเว็บไซต์ ASEAN University Network ยังได้กล่าวถึงโอกาสและความท้าทายข้างหน้า ว่า แนวคิด “Glocal” ไม่เพียงช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถปรับตัวกับกระแสโลกาภิวัตน์ แต่ยังช่วยเสริมสร้างทักษะที่สำคัญให้กับนักศึกษา เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม และทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศ เป็นต้น เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนนักศึกษาในระดับนานาชาติ สำหรับปีนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เตรียมพร้อมสำหรับเข้าร่วมประชุม IRO + 3 ซึ่งจะมีการหารือในหัวข้อ “Glorecal Connections: Driving Digital Transformation for a Sustainable Education Future in ASEAN+3 Countries” โดยมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลเพื่อสร้างระบบการศึกษาที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน
“มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พร้อมเดินหน้าสู่อนาคตด้วยแนวคิด “Glocal” สร้างบัณฑิตที่มีศักยภาพระดับสากลและมีจิตสำนึกต่อสังคมท้องถิ่น ตอบโจทย์ทั้งการเปลี่ยนแปลงของโลกและความต้องการของภูมิภาคอย่างสมดุล” คุณพิชัยยุทธ พันชานวัต กล่าวสรุป
ติดตามบทความได้ที่ในเวปไซต์ ASEAN University Network
https://aunsec.org/news/prince-songkla-university-bridging-local-roots-global-vision