วันที่ 5 มีนาคม 2568 สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) มอบโล่ประกาศเกียรติคุณในระดับ “ดีเยี่ยม” ให้หน่วยงานที่ได้ผลการประเมินสูงสุดในการเข้าร่วมการฝึกเพื่อทดสอบขีดความสามารถทางไซเบอร์ (Thailand’s National Cyber Exercise 2024) ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยได้รับเกียรติจาก นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เป็นผู้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณฯ ในครั้งนี้ โดยมีหน่วยงานที่ได้ผลการประเมินสูงสุด ดังนี้
- ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ภาครัฐบาลดิจิทัล (DG-CERT)
- ธนาคารแห่งประเทศไทย
- ธนาคารออมสิน
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
การฝึกเพื่อทดสอบขีดความสามารถทางไซเบอร์ (Thailand’s National Cyber Exercise 2024) ประจำปีงบประมาณ 2567 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 – 20 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โดยมีหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ Sectoral CERT และ ThaiCERT เข้าร่วมการฝึกฯ จากการฝึกดังกล่าวพบว่าหน่วยงานมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ตาม พ.ร.บ. ไซเบอร์ 2562 ทั้งในด้านกระบวนการ บริหารจัดการ ขีดความสามารถขององค์กร และแผนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะสามารถสนับสนุนการดำเนินงานด้านการรรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้กับหน่วยงานของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประธานกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ กล่าวว่า “ในปัจจุบัน ภัยคุกคามทางไซเบอร์มีความซับซ้อนและรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จากรายงาน The Global Risks Report 2025 โดย World Economic Forum ระบุให้ Cyber Warfare เป็นความเสี่ยงอันดับ 5 ของโลก ซึ่งอาจสร้างผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ ดังนั้น การเตรียมความพร้อมเชิงรุก จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง การฝึกในครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่ช่วยให้หน่วยงานได้พัฒนาและทดสอบขีดความสามารถในการรับมือภัยไซเบอร์ ทั้งในภาวะปกติและเมื่อเผชิญกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรงนอกจากนี้ การฝึกยังช่วยให้ทุกท่านได้ตรวจสอบประสิทธิภาพ ทั้งในแง่ของบุคลากร เครื่องมือ และกระบวนการ อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการเสริมสร้างความพร้อมด้านการติดต่อประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ทั้งในระดับบริหารและระดับปฏิบัติ ในการตอบสนองต่อเหตุภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อหน่วยงานในยามที่ประสบเหตุภัยคุกคามทางไซเบอร์ในสถานการณ์จริง ผมขอขอบคุณผู้แทนหน่วยงานที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนและมุ่งพัฒนาความสามารถในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้รับความรู้เพื่อนำกลับไปปรับใช้ในหน่วยงาน ซึ่งจะสามารถสนับสนุนการดำเนินงานด้านการรรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ให้กับหน่วยงานของท่านได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป”