เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2568 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอบรมให้ความรู้ภาคีเครือข่าย และการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การช่วยเหลือและพัฒนาความรู้ทักษะอาชีพ ระหว่างสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ บ้านนารีสวัสดิ์ จังหวัดนครราชสีมา กระทรวง พม. กับภาคีเครือข่ายภาครัฐ 10 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ร่วมกับ 2) วิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยวนครราชสีมา และ 3) วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา ดำเนินงานด้านการฝึกทักษะอาชีพและนวัตกรรมใหม่ๆ 4) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ดำเนินงานด้านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิชาการและการทำกิจกรรมกับผู้เสียหาย 5) สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับ 6) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครราชสีมา 7) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 1 8) ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอเมืองนครราชสีมา 9) องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา และ 10) สำนักงานเทศบาลนครนครราชสีมา ดำเนินงานความร่วมมือเชิงป้องกันและการให้การศึกษาในสถานศึกษาและชุมชน
นายอนุกูล กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เกิดขึ้นจากหลายภาคส่วนในพื้นที่ อาทิ สถาบันการศึกษา ที่เข้ามาร่วมมือทำให้เกิดการออกแบบการป้องกัน แก้ไข และคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์อย่างเป็นระบบ และทำให้การขยายองค์ความรู้กับภาคีเครือข่ายไปถึงพี่น้องประชาชน เกิดความตระหนักรู้ ความเข้าใจในกลไกการทำงานของการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เช่น กลไกการส่งต่อระดับชาติ หรือ NRM ที่ยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง และกลไกการการคัดแยกผู้เสียหาย สิ่งเหล่านี้จะเชื่อมโยงเข้ากับประเด็นการจัดระดับประเทศไทย ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา หรือ TIP Report ถ้าประเทศไทยถูกจัดระดับไปอยู่ Tier 2 Watch List จะทำให้ประเทศไทยมีความยุ่งยากในโอกาสทางการค้า ซึ่งจะเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจที่รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องของการลงทุนและการส่งออก
นายอนุกูล กล่าวว่า อีกประเด็นที่เกี่ยวข้องคือเรื่องการประมง ที่เป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน แต่ในภาคอีสานอาจไม่พบ ซึ่งเจ้าภาพหลักในส่วนที่เกี่ยวข้องด้านคดีเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ด้านการป้องกันเกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมประมง เป็นเจ้าภาพหลัก และด้านการคุ้มครองผู้เสียหายนั้น กระทรวง พม. เป็นเจ้าภาพหลัก โดยทำงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (คกก.ปคม.) กำกับดูแลการดำเนินงานต่างๆ ดังนั้น การขยายหุ้นส่วนทางสังคมของหน่วยงานภาครัฐที่เพิ่มขึ้นในวันนี้ ถือว่าเป็นความร่วมมือสำคัญ โดยเฉพาะภาคการศึกษา ซึ่งสถาบันวิชาการหรือสถาบันการศึกษา มีส่วนช่วยในการเรียนรู้ ไม่ใช่เฉพาะแค่เพียงนิสิต นักศึกษา โดยมีการเพิ่มประเด็นการค้ามนุษย์ทำให้มหาวิทยาลัยขยายแนวคิด องค์ความรู้ไปสู่ชุมชน ซึ่งจะทำให้เรารู้เท่าทันการค้ามนุษย์มากยิ่งขึ้น
นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ การที่ภาคีเครือข่ายภาครัฐเข้ามาร่วมมือกัน เป็นการผนึกกำลังในการขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนภาคอีสานในภาพรวมทั้ง 20 จังหวัด อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของประเด็นการค้ามนุษย์ในระดับชาติ นั้น ถ้าเรายังไม่เริ่มดำเนินการ วิกฤตและความท้าทายจะยังคงอยู่ในประเทศไทยต่อไป ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นความก้าวหน้า และขอชื่นชม พร้อมขอขอบคุณภาคีเครือข่ายภาครัฐ 10 หน่วยงาน ทั้งสถาบันการศึกษา องค์การบริหารส่วนจังหวัด และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ กระทรวง พม. พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อปรับเปลี่ยนโอกาสความร่วมมือระหว่างกระทรวง พม. กับภาคส่วนต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและโอกาสสำคัญทางสังคมของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และหวังว่าความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การช่วยเหลือและพัฒนาความรู้ทักษะอาชีพ ระหว่างสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (บ้านนารีสวัสดิ์) จังหวัดนครราชสีมา กับ ภาคีเครือข่ายภาครัฐในครั้งนี้ จะบูรณาการเชื่อมโยงกันจนทำให้เห็นผลลัพธ์สำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนที่ดีขึ้น
#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #5×5ฝ่าวิกฤติประชากร #พมหนึ่งเดียว #วราวุธศิลปอาชา #ศบปภ #ค้ามนุษย์