กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดประชุมประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น ยกร่างกฎหมาย 2 ฉบับ สร้างความชัดเจนในแนวทางการโฆษณาและประกาศของสถานพยาบาล และการคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตทุกคนให้ได้รับการรักษาพยาบาล ตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่”
วันที่ 17 กันยายน 2562 ณ อาคารกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรม สบส. กล่าวภายหลังพิธีเปิดการประชุมประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ “ร่างประกาศกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการเงื่อนไข และค่าใช้จ่ายในการโฆษณา หรือประกาศเกี่ยวกับสถานพยาบาล และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต” ว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนในหลักปฏิบัติการขออนุมัติโฆษณาและประกาศของสถานพยาบาล รวมถึงคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติทุกคนให้ได้รับการรักษาพยาบาลตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่” กรม สบส. จึงกำหนดจัดการประชุมประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายในวันนี้ขึ้น โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และผู้แทนจากสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ จำนวน 150 คน มาร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาและปรับปรุงร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ก่อนเสนอรัฐมนตรีว่าการให้ความเห็นชอบ
นายแพทย์ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า สำหรับสาระสำคัญที่มีการปรับปรุงในร่างประกาศกรม สบส. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการเงื่อนไข และค่าใช้จ่ายในการโฆษณาฯ นั้น ได้เพิ่มความชัดเจนในรูปแบบโฆษณาที่ต้องขออนุมัติและไม่ต้องขออนุมัติ รวมถึงข้อห้ามของโฆษณาสถานพยาบาลจะมีการระบุอย่างชัดเจนในประกาศฯ เช่น ห้ามใช้ข้อความ ภาพ หรือเสียงที่บ่งบอกว่าของตนดีกว่า เหนือกว่า ดีที่สุด รายแรก แห่งแรก รับรองผล 100% หายขาด หรือได้ผลสูงสุด ห้ามโฆษณาหรือประกาศที่รวมอยู่กับการถวายพระพร หรือการกระทำอย่างอื่นที่อ้างอิงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ฯลฯ ส่วนประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินฯ ได้กำหนดให้ รพ./คลินิกทุกแห่งต้องจัดให้มีการตรวจคัดแยกระดับความฉุกเฉินและจัดให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการบริการตามลำดับความเร่งด่วน การส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่นจะต้องผ่านการรับรองจากแพทย์ โดยจะต้องให้การดูแลรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตจนพ้นวิกฤตเสียก่อน หรือถ้ามีความจำเป็นต้องส่งต่อ จะต้องจัดการให้มีการจัดส่งต่อไปยังสถานพยาบาลอื่นตามความเหมาะสมตามมาตรฐานวิชาชีพและมาตรฐานการส่งต่อผู้ป่วย เป็นต้น
*********************