กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับผู้แทน 14 จังหวัดและองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนระดมความคิดเห็นจัดทำแผนปฏิบัติการเมืองสมุนไพรประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาเมืองสมุนไพรทั่วประเทศ
วันที่ 17-18 กันยายน 2562 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จัดประชุมเชิงปฏิบัติการการทำแผนปฏิบัติการเมืองสมุนไพรประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีภาคีเครือข่าย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผู้ทรงคุณวุฒิภาคมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน รวมทั้งตัวแทนจากเมืองสมุนไพรทั้ง 14 จังหวัด หารือแผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน เมืองสมุนไพร 14 แห่งทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาสมุนไพรและนำสมุนไพรไปสู่การสร้างเศรษฐกิจแก่ประเทศอย่างยั่งยืน ณ โรงแรมพักพิงอิงทาง อ.เมือง จ.นนทบุรี
นายแพทย์ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวภายหลังเปิดการประชุมว่า รัฐบาลมีนโยบายในการขับเคลื่อนและพัฒนาศักยภาพสมุนไพรไทยให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ประเทศ โครงการพัฒนาเมืองสมุนไพร (Herbal City) เป็นการถ่ายทอดมาตรการและ แผนงานจากแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรฉบับที่ 1 (พ.ศ.2560-2564) ลงไปสู่การพัฒนาในระดับภูมิภาคโดยมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจรตั้งแต่ ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ให้สามารถนำสมุนไพรไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างการเติบโตของชุมชนอย่างยั่งยืน โดยอาศัยกลไกประชารัฐและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนโดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 มีจังหวัดนำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย ปราจีนบุรี สกลนคร สุราษฎร์ธานี และในปีงบประมาณ 2561 เพิ่มจังหวัดเป้าหมายอีก 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัด พิษณุโลก อุทัยธานี มหาสารคาม สุรินทร์ อำนาจเจริญ สระบุรี นครปฐม จันทบุรี และสงขลา ปี 2562 เพิ่มอีก 1 จังหวัดคือ อุดรธานี รวมทั่วประเทศ 14 จังหวัด
ทั้งนี้เพื่อร่วมกันพัฒนารูปแบบเมืองสมุนไพร จึงต้องระดมความคิดเห็นและจัดทำแผนปฏิบัติการเมืองสมุนไพรไทยตามจุดเน้นยุทธศาสตร์เมืองสมุนไพรในด้านต่างๆ เช่น จุดเน้นด้านการเกษตร วัตถุดิบสมุนไพรและอาหาร จุดเน้นด้านอุตสาหกรรมสมุนไพร และจุดเน้นด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ผลจากการระดมความคิดเห็นในครั้งนี้เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการในการดำเนินการพัฒนาเมืองสมุนไพรในระยะงบประมาณ 2563-2565 ร่วมกัน และเพื่อนำมาเป็นแนวทางในการสร้างกระบวนการในการดำเนินงานเมืองสมุนไพรให้เกิดรูปธรรม นำสมุนไพรไปสู่การสร้างเศรษฐกิจแก่ประเทศและสร้างรายได้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไป
………………………………..