สธ. จับมือเครือข่าย พัฒนาสุขภาวะพระสงฆ์ไทย สร้างวัดรอบรู้ด้านสุขภาพ

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกรมการศาสนา ส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ไทยให้มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ

วันที่ 17 กันยายน 2562 นายธนิตพล ไชยนันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “สานพลัง เชื่อมปัญญา พัฒนาสุขภาพพระสงฆ์” และแถลงข่าวร่วมกับคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกรมการศาสนา ณ วัดยานนาวา กรุงเทพมหานคร ว่า รัฐบาลเห็นความสำคัญของสุขภาพพระสงฆ์ ซึ่งสอดคล้องกับมติมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2560 มติที่ 191/2560 และมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ให้มีการขับเคลื่อนงาน “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” โดยดำเนินการวัดส่งเสริมสุขภาพและธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เพื่อเป็นกรอบและแนวทางการส่งเสริมสุขภาวะพระสงฆ์และชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ รวมถึงเสริมสร้างทักษะการดำรงชีวิต การเรียนรู้ และการพัฒนาตลอดช่วงชีวิต พร้อมทั้งพัฒนาสุขภาวะ โดยบูรณาการการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมร่วมกับศิลปวัฒนธรรมในความเป็นวัด ใช้หลัก 5 ร. คือ สะอาดร่มรื่น สงบร่มเย็น สุขภาพร่วมสร้าง ศิลปะร่วมจิต (วิญญาณ) และชาวประชาร่วมพัฒนาให้สามารถบริหารจัดการสุขภาพได้ด้วยตนเอง เพิ่มความรอบรู้ด้านสุขภาพ สร้างชุมชน ท้องถิ่น และองค์กรรอบรู้สุขภาพสู่วัดรอบรู้สุขภาพ (Health Literate Temple) ซึ่งปัจจุบันมีวัดที่ผ่านเกณฑ์ประเมินวัดส่งเสริมสุขภาพจำนวน 4,191 วัด และพระคิลานุปัฏฐาก (พระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด-อสว.) จำนวน 3,945 รูป ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และพระสงฆ์นักพัฒนา พัฒนาหลักสูตรพระคิลานุปัฏฐาก (พระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด-อสว.) เพื่อส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ภายในวัดให้มีความรอบรู้ด้านสุขภาพและขับเคลื่อนการดำเนินงานธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พุทธศักราช 2560

“ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการในระดับพื้นที่ ดังนี้ 1) การจัดทำแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” ตามธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พุทธศักราช 2560 2) ขับเคลื่อนการดำเนินงาน วัดส่งเสริมสุขภาพสู่วัดรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literate Temple) 3) จัดทำหลักสูตรและฝึกอบรมพระคิลานุปัฏฐาก (พระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด – อสว.)หลักสูตร 70 ชั่วโมงและหลักสูตร 35 ชั่วโมง และ 4) การดูแลตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์ ตามโครงการ 1 วัด 1 โรงพยาบาล เพื่อให้พระสงฆ์ดูแลสุขภาพตนเองให้ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย พระสงฆ์ที่ป่วยได้รับการดูแลต่อเนื่องและส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาล ส่วนกลุ่มเสี่ยงได้รับความรู้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ดูแลด้านโภชนาการ การออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก ควบคุมความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือด พร้อมให้ความรู้ประชาชนเรื่องการถวายอาหารพระสงฆ์ ลดหวาน มัน เค็ม” ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

ทางด้าน แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า พระสงฆ์ไทยมีพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ ทั้งโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาการบริโภคไม่ถูกหลักโภชนาการ ต้องฉันอาหารจากการบิณฑบาตหรือตามที่ฆราวาสนำอาหารมาถวาย จึงไม่สามารถเลือกอาหารที่มีคุณภาพและไม่ก่อโรคได้ รวมถึงมีข้อจำกัดด้านการออกกำลังกาย ประชาชนที่ทำบุญตักบาตรหรือถวายภัตตาหารพระสงฆ์จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่รสหวานจัด มันจัด เค็มจัด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง กรมอนามัยจึงร่วมกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รณรงค์ให้ชุมชนจัดงานปลอดเหล้า ทำบุญตักบาตรด้วยภัตตาหารชูสุขภาพ และถวายความรู้ในการดูแลสุขภาพแก่พระสงฆ์ เช่น จัดภัตตาหารที่ดีต่อสุขภาพ การดูแลอนามัยช่องปากของพระสงฆ์ โดยเข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปาก  อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ร่วมกับการดูแลอนามัยช่องปากอย่างเหมาะสมด้วยสูตร 2 2 2 ได้แก่ แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง นานครั้งละ 2 นาที และงดอาหารหลังแปรงฟัน 2 ชั่วโมง รวมถึงการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับพระสงฆ์ เช่น การเดินบิณฑบาต การเดินจงกรม งานทำความสะอาดโบสถ์ วิหาร กวาดลานวัด และการย่อเข่าลุก-นั่งเก้าอี้ เป็นต้น เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีให้กับพระสงฆ์อย่างยั่งยืน

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 17 กันยายน 2562