วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 8.30 น. โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจรายแรกของโรงพยาบาล ซึ่งถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญในการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจครั้งแรกในโรงพยาบาลภูมิภาคของประเทศไทย
รศ. ดร.พญ.มณฑิรา ตัณฑนุช หัวหน้าศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ กล่าวว่า โรงพยาบาลสงขลานครินทร์มีความพยายามและตั้งใจในการจัดตั้งศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้ายในการรักษา โดยปกติหากต้องปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยจะต้องขึ้นไปผ่าตัดในโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องปลูกถ่ายหัวใจ ดังนั้นโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จึงพยายามที่จะพัฒนาความเชี่ยวชาญของทีมแพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง จนได้รับการรับรองเป็นศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย เพื่อปลูกถ่ายหัวใจ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567
และในวันนี้เป็นครั้งแรกที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในระดับภูมิภาค ได้ทำการปลูกถ่ายหัวใจให้กับผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว ที่ไม่สามารถรับการรักษาอย่างอื่นได้ นอกจากการปลูกถ่ายหัวใจ ณ ศูนย์ผ่าตัดหัวใจ 99 ปี รัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โดยในการผ่าตัดครั้งนี้มีทั้งทีมศัลยแพทย์ นำโดย ศ. นพ.วรวิทย์ จิตติถาวร ทีมวิสัญญีแพทย์ นำโดย รศ. นพ.วิรัตน์ วศินวงศ์ นอกจากนี้ ยังมีทีมเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก ทีมพยาบาลและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงได้รับความร่วมมือจากทีมแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นำโดย อ.นพ.พัชร อ่องจริต คอยเป็นทีมพี่เลี้ยงในการผ่าตัดอีกด้วย
การผ่าตัดครั้งนี้ไม่เพียงแต่แสดงถึงศักยภาพทางการแพทย์ของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ แต่ยังสะท้อนถึงความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ในการมุ่งมั่นและตั้งใจช่วยเหลือผู้ป่วย นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงออกถึงความมีน้ำใจของคนไทยในการบริจาคอวัยวะเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อีกด้วย การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะในครั้งนี้เกิดขึ้นได้จากความเสียสละอันยิ่งใหญ่ของผู้บริจาคอวัยวะ ที่ได้มอบหัวใจ ไต และดวงตา เพื่อให้ชีวิตใหม่แก่ผู้ป่วยและส่งต่อโอกาสในการมองเห็นแก่ผู้อื่น
โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ขอขอบคุณบุคลากร ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความสำเร็จครั้งนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถนำความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่ได้ ค่อย ๆ พัฒนาเพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยให้ได้มากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต