ตามที่ ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้มีนโยบายหลอมรวมการจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนมากที่สุด จึงได้มอบให้สถานศึกษาในสังกัดอาชีวศึกษาดำเนินโครงการสร้างสะพานเชื่อมโยงการศึกษาด้านวิชาชีพของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กับ การศึกษาขั้นพื้นฐาน ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งวิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล ๒ โดยนายดำรงค์ สุดวิลัย ผู้อำนวยการ ได้ร่วมลงนามความร่วมมือกับสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ในเขตพื้นที่บริการทางการศึกษา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ในโครงการลงนามความร่วมมือสะพานเชื่อมโยงการจัดการอาชีวศึกษากับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ณ ห้องประชุม A ๑๐๒ อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ วิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล ๒ ในสาขางาน ๑) การโรงแรม ๒) คอมพิวเตอร์ธุรกิจ ๓) การท่องเที่ยว ๔) อาหารและโภชนาการ ๕) การบัญชี ๖) ช่างก่อสร้าง ๗) ช่างยนต์ และ ๘) ช่างไฟฟ้ากำลัง โดยมีสถานศึกษาสังกัด สพฐ. เข้าร่วม จำนวน ๑๐ แห่ง ประกอบด้วย ๑) โรงเรียนชะอำคุณหญิงเนื่องบุรี ๒ )โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 47 จังหวัดเพชรบุรี ๓) โรงเรียนห้วยทรายประชาสรรค์ ๔) โรงเรียนเทศบาล ๑ บ้านชะอำ (ชะอำวิทยาคาร) ๕) โรงเรียนท่ายางวิทยา ๖) โรงเรียนบ้านหุบกะพง ๗) โรงเรียนบ้านดอนขุนห้วย ๘) โรงเรียนโตนดหลวงวิทยา ๙) โรงเรียนนิคมสร้างตนเองเขื่อนเพชร (พิบูลสงเคราะห์ ๑) ๑๐) โรงเรียนหนองชุมแสง ซึ่งจะเปิดสอนในภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๖๒ เป็นต้นไป
นายดำรงค์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล 2 เปิดเผยว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มโอกาสและเชื่อมโยงการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานกับการจัดการอาชีวศึกษา เพื่อร่วมกันผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาประเทศ ตอบสนองความต้องการภาคผู้ใช้กำลังคน ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ รวมถึงความเป็นเอกภาพของการจัดการศึกษา ระหว่าง สอศ. และสพฐ. ซึ่งได้มาบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มโอกาสและการเชื่อมโยงการศึกษา เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป
ด้าน ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวเสริมว่า “สะพานเชื่อมโยงการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานกับการอาชีวศึกษา” ที่เกิดขึ้นนี้ สืบเนื่องมาจากภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งถือเป็นภารกิจของประเทศที่จะใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการสร้างอาชีพ สร้างคน สร้างชาติ แต่ที่ผ่านมา การศึกษาได้แยกกันจัดการเรียนการสอนเป็นส่วน ๆ ไป จึงต้องมาสร้างแนวคิดร่วมกันใหม่ โดย สพฐ.ซึ่งมีหน้าที่วางพื้นฐาน และจัดการเรียนการสอนให้เด็กได้รู้จักตัวตน ความสนใจ ความถนัด เพื่อเด็กจะได้เลือกเรียนในสิ่งที่เป็นความถนัดหรือสนใจ รวมถึง สอศ. ที่ต้องสร้างคนให้มีทักษะเพื่อการประกอบอาชีพในอนาคต แต่เรายังไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มศักยภาพ จึงต้องจัดการเรียนการสอนร่วมกันเพื่อสร้างการรับรู้ และผู้เรียน ผู้ปกครองจะได้ตระหนักถึงความต้องการที่แท้จริงของลูกหลาน และครอบครัว ซึ่งถือว่าเป็นการวางแผนการศึกษาที่เกิดจากครอบครัวและสถานศึกษาอย่างแท้จริง
กลุ่มประชาสัมพันธ์ 15 กันยายน 62