เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงาน ถ่ายทอดสดจากสถานีวิจัย Great Wall Station ขั้วโลกใต้ โดยมี ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ นักวิจัยขั้วโลกจากมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ และอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุจารี บุรีกุล อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณนิพัธ ปิ่นประดับ ผู้ช่วยนักวิจัย ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน โดยมี ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการ NSM และ ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการ NSM เข้าร่วมรับฟังการถ่ายทอดสด พร้อมกับนักเรียนและคุณครูจากโรงเรียนคลองห้า (พฤกษชัฏฯ) และโรงเรียนชุมชนวัดหัตถสารเกษตร จ.ปทุมธานี ณ ห้องการแสดงทางวิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า อพวช. ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
ผศ.ดร.รวิน กล่าวว่า “NSM เล็งเห็นความสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจและความตระหนักรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ผ่านการสร้างประสบการณ์สุดล้ำแห่งวิทยาศาสตร์ จึงจัดโครงการถ่ายทอดสดจากขั้วโลกใต้ ‘Extreme Livestream from Extreme Lands’ ขึ้น เพื่อให้เยาวชนได้รับประสบการณ์ที่น้อยคนจะได้พบ พร้อมได้พูดคุยกับนักวิจัยขั้วโลกตัวจริง นับเป็นกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่มีคุณค่าและได้ตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ในหลากหลายมิติ พร้อมเป็นแรงผลักดันให้เยาวชนได้เกิดแรงบันดาลใจก้าวไปสู่เส้นทางของนักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยต่อไปในอนาคต โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในนักวิจัยไทยในโครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ
ด้าน ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ได้ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ จาก สถานีวิจัย Great Wall Station ที่ขั้วโลกใต้ว่า “ประเทศไทยได้เข้าร่วมการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลกกับสาธารณรัฐประชาชนจีน มาตั้งแต่ปี 2536 ตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งความร่วมมือดังกล่าว ดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ขั้วโลก ระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับหน่วยงานขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ของจีน (Chinese Arctic and Antarctic Administration : CAA) และในปี 2568 ตนร่วมกับนักวิจัยไทยอีก 2 ท่าน ได้ร่วมเดินทางกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกแห่งสาธารณะรัฐประชาชนจีน คณะที่ 41 ครั้งนี้
ในวันนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษที่ได้มาเล่าประสบการณ์การทำงานและการใช้ชีวิตที่สถานีวิจัย Great Wall Station ซึ่งเป็นสถานีวิจัยนานาชาติของประเทศจีนในขั้วโลกใต้ให้กับเยาวชนฟัง โดยเยาวชนได้เรียนรู้ถึงความหลากหลายทางชีวภาพและวิถีชีวิตของสัตว์ต่าง ๆ ในขั้วโลกใต้ เช่น แมวน้ำช้าง และเพนกวิน ซึ่งสัตว์เหล่านี้ต้องปรับตัวในสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายในขั้วโลกใต้ และต่อสู้กับภาวะโลกร้อนที่ทำให้มวลน้ำแข็งละลาย นอกจากนี้ เด็ก ๆ ยังได้เห็นตัวอย่างการศึกษาวิจัยในขั้วโลกใต้ เช่น ตัวอย่าง ‘ขนเพนกวิน’ ที่นักวิจัยนำมาเก็บเพื่อศึกษามลพิษในพื้นที่ โดยสิ่งที่ได้จากการศึกษาวิจัยเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ และย้ำเตือนให้ทุกคนได้ตระหนักและสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น”
ดร.กรรณิการ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “กิจกรรมครั้งนี้ ถือว่าจัดขึ้นพิเศษในวาระครบรอบ 50 ปี ของ การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหนึ่งในเสาหลักที่สำคัญของความสัมพันธ์ไทย-จีน การที่นักวิจัยไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการวิจัยขั้วโลกใต้กับจีน แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของความร่วมมือนี้ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาศักยภาพของนักวิทยาศาสตร์ไทย กิจกรรมถ่ายทอดสดจากขั้วโลกใต้ในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนของความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ระหว่างไทย-จีน ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไทย และส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ”
สำหรับนักเรียนที่เข้าร่วมฟังการถ่ายทอดผ่านระบบ Zoom ได้แก่ King’s College International School, Kensington International School, รร.เซนต์คาเบรียล กรุงเทพฯ , รร.วิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ปทุมธานี, รร.เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ปทุมธานี, รร.เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา จ.ปทุมธานี และรร.สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ จำนวนกว่า 477 คน