รมว.พม. มอบโล่เกียรติคุณเครือข่ายเด็กและเยาวชน DJ TEEN และภาคีเครือข่าย ร่วมรณรงค์แก้ปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอย่างเข้มแข็ง

วันที่ 15 ก.ย. 62 เวลา 13.00 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดงานมหกรรมสร้างสรรค์พลังบวกในเด็กและเยาวชนป้องกันและแก้ไขปัญหา การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พร้อมทั้งมอบโล่เกียรติคุณสำหรับเครือข่ายเด็กและเยาวชน DJ TEEN รวมทั้งภาคีเครือข่ายป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) จัดขึ้นเพื่อแสดงพลังสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวง พม. พร้อมด้วย เครือข่ายเด็กและเยาวชน DJ TEEN เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัว เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายที่สนับสนุน DJ TEEN รวมจำนวนทั้งสิ้น 510 คน เข้าร่วมงาน ณ โรงแรมอะเดรียติค พาเลซ กรุงเทพฯ

นายจุติ กล่าวว่า ปัจจุบัน ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว ดังนั้น การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จึงเป็นภารกิจที่สำคัญที่ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนจำเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือกัน ในขณะที่ สังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีอัตราส่วนและจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น และอัตราเกิดของประชากรลดลง ที่ส่งผลให้ประชากรไทยมีแนวโน้มลดลงในระยะ 5 – 10 ปี ข้างหน้า อีกทั้งจำนวนเด็กที่เกิดจากแม่วัยรุ่นกลับมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ จึงทำให้มี “การเกิดน้อย แต่ด้อยคุณภาพ” ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 และยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560 – 2569 ซึ่งกระทรวง พม.เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนงานตามพระราชบัญญัติในมาตรา 9 และยุทธศาสตร์ที่ 4 โดยสนับสนุนสภาเด็กและเยาวชนสร้างเครือข่ายเด็กและเยาวชนในการป้องกัน แก้ไข และเฝ้าระวังปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในท้องถิ่นของตนเอง รวมทั้งการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับแม่วัยรุ่นและครอบครัว อีกทั้งได้สนับสนุนสภาเด็กและเยาวชนสร้างเครือข่ายเด็กและเยาวชน DJ TEEN ใน 77 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 456 เครือข่าย เพื่อสื่อสารรณรงค์ให้เด็กและเยาวชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศมีความรู้เรื่องสุขภาวะทางเพศและทักษะชีวิตในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ครอบครัว และชุมชน มีทัศนคติเรื่องเพศเชิงบวก สามารถสื่อสารกับบุตรหลานได้อย่างสร้างสรรค์ โดยแกนนำเครือข่ายเด็กและเยาวชน DJ TEEN ได้สื่อสารรณรงค์ใน 3 รูปแบบ ดังนี้ 1) สื่อกระจายเสียง ด้วยการจัดรายการวิทยุ เสียงตามสาย หอกระจายข่าว อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ต่อเนื่องตลอดปี โดยบูรณาการความร่วมมือกับกรมประชาสัมพันธ์ ผ่านช่องรายการวิทยุของ สวท. จังหวัด 2) สื่อพื้นบ้าน ด้วยการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ผ่านวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า3 ครั้ง และ 3) สื่อออนไลน์ ด้วยการจัดทำหนังสั้น คลิปวิดีโอ Viral Clip โฆษณา ผ่านสื่อออนไลน์ อาทิ Facebook YouTube Instagram และ Twitter

นายจุติ กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. โดย ดย. ได้กำหนดจัดมหกรรมพลังบวกในเด็กและเยาวชนป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พร้อมทั้งมอบโล่เกียรติคุณสำหรับเครือข่ายเด็กและเยาวชน DJ TEEN และหน่วยงาน ภาคีเครือข่ายป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นครั้งนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นการรวมพลังเครือข่ายเด็กและเยาวชน DJ TEEN องค์กร ที่สนับสนุน DJ TEEN จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ พร้อมทั้งการนำผลงานพื้นที่ต้นแบบ ผลงานและผลิตภัณฑ์ของแม่วัยรุ่น มาแสดงและจัดนิทรรศการ โดยกิจกรรมภายในงานที่น่าสนใจ ประกอบด้วย การปลุกพลังบวกให้กับเครือข่ายเด็กและเยาวชนDJ Teen ในการสร้างสรรค์สังคมหัวข้อ “รู้ใจกัน รู้เท่าทันเรื่องเพศ” การแสดงสื่อสร้างสรรค์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น 3 รูปแบบ ได้แก่ สื่อกระจายเสียง สื่อออนไลน์ และสื่อพื้นบ้าน จากทีมชนะการประกวดสื่อสร้างสรรค์ฯ การสรุปผลการขับเคลื่อนงานของเด็กและเยาวชน DJ TEEN ในระดับพื้นที่ การมอบโล่เกียรติคุณให้ทีมชนะการประกวด การจัดบูธแสดงผลงานของเครือข่ายเด็กและเยาวชน DJ TEEN องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการดำเนินกิจกรรมสร้างสรรค์ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นดีเด่น ประจำปี 2562 การจัดสวัสดิการสังคมสำหรับแม่วัยรุ่น การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของแม่วัยรุ่น และการแสดงสื่อสร้างสรรค์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น “การรวมตัวของกลุ่มเครือข่ายเด็กและเยาวชน DJ TEEN เป็นการรวมพลังในการออกแบบการสื่อสารรณรงค์

เพื่อเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อให้วัยรุ่นมีทักษะชีวิตที่ตระหนักรู้เรื่องเพศและสร้างทัศนคติเชิงบวกให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครอบครัว และชุมชน สำหรับการสื่อสารเรื่องเพศกับบุตรหลานได้อย่างสร้างสรรค์ นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ช่วยป้องกันวัยรุ่นตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ ทั้งนี้ ขอให้เครือข่ายเด็กและเยาวชน DJ TEEN รวมพลังสร้างสรรค์และประกาศให้สังคมได้รับรู้ถึงพลังของเด็กและเยาวชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอย่างเข้มแข็งต่อไป” นายจุติ กล่าวในตอนท้าย