นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การประชุมรับฟังนโยบายการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2569 วธ. เมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งมีผู้บริหาร วธ.และผู้แทนสำนักงบประมาณที่ประชุมได้รับทราบแนวทางการจัดทำงบประมาณฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จากสำนักงบประมาณ อาทิ การจัดทำคำของบประมาณจะดำเนินการตามกรอบนโยบายที่นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายให้กับหน่วยงานราชการจากทั้งส่วนกลางและภูมิภาค เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา และมุ่งเน้นตามนโยบายสำคัญรัฐบาลและการจัดทำงบประมาณเพื่อสนับสนุนโอกาสพัฒนาประเทศมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาเร่งด่วน สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางเศษฐกิจและสังคม และจัดทำงบประมาณโดยพิจารณาลำดับความสำคัญตามความจำเป็นเร่งด่วน รวมถึงการจัดทำแผนงาน/โครงการต้องกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัด ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์กับประชาชน รวมถึงจัดทำงบประมาณโดยพิจารณาให้ครอบคลุมแหล่งเงินและให้ความสำคัญกับการจัดทำงบประมาณมิติพื้นที่ รวมทั้งดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบและมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีอย่างครบถ้วน เป็นต้น
รมว.วธ. กล่าวว่า วธ.จัดทำคำของบประมาณรวมกองทุน ภายใต้กรอบวงเงินจำนวน 16,610 ล้านบาท โดยมีคำของบประมาณแยกตามแผนงาน ดังนี้ แผนงานบุคลากรภาครัฐ ร้อยละ 18.37 แผนงานบูรณาการ ร้อยละ 1.75 แผนงานพื้นฐาน ร้อยละ 3.49 แผนงานยุทธศาสตร์ ร้อยละ 76.39 โดยมีแผนงานขับเคลื่อน Soft Power ร้อยละ 11.56 ของงบประมาณทั้งหมด สำหรับโครงการสำคัญของ วธ.ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 5 ยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนแผนแม่บท ๙ ประเด็น ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในด้านการปลูกฝังความรักใน สถาบันหลักของชาติ การส่งเสริมความ หลากหลายทางอัตลักษณ์และความเชื่อ การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว การปฏิรูปการศึกษาสร้างสังคม การเรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาบริการประชาชน การทูตเชิงรุกและความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุน Soft Power ซึ่งหน่วยงานในสังกัด วธ.ได้รับมอบหมายในคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 9 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านภาพยนตร์ สารคดีและแอนิเมชัน 2.ด้านเกม 3.ด้านดนตรี 4.ด้านแฟชั่น 5.ด้านละครและซีรีส์ 6.ด้านศิลปะ 7.ด้านศิลปะการแสดง 8. ด้านหนังสือ และ 9. ด้านอาหาร
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า ในปี 2569 วธ.ยังมีโครงการขับเคลื่อนอื่น ๆ ที่เป็นโครงการต่อเนื่องและโครงการใหม่ที่ขับเคลื่อน 4 นโยบาย – 3 แนวทาง – 2 รูปแบบ – 1 เป้าหมาย” ในการใช้วัฒนธรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ การพัฒนาทุน ระบบนิเวศ คน และพัฒนาสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม ดังนี้ ด้านการพัฒนา “ทุน” จำนวน 15โครงการ อาทิ โครงจัดทำระบบริการข้อมูลใหญ่และร่วมกิจกรรมงานเทศกาลประเพณีไทยด้วยเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (Thai Festival Metaverse) โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนสู่การเป็นเมืองแห่งศิลปะ โครงการการจัดงานสงกรานต์ไทย เลื่องลือไกลในต่างประเทศ ด้านการพัฒนา “ระบบนิเวศ” จำนวน 26 โครงการ อาทิ โครงการส่งเสริมกิจกรรม 1 อำเภอ 1 ลานสร้างสรรค์ กิจกรรมท่องเที่ยวพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติยามค่ำ การจัดทำสถิติวัฒนธรรมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และด้านการพัฒนา “คน” จำนวน 42 โครงการ อาทิ พัฒนาศักยภาพบุคลากรและเครือข่ายทางวัฒนธรรมผ่านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาการดำเนินงานของเครือข่ายทางวัฒนธรรมในประเทศและต่างประเทศ และโครงการสืบศิลปะ สร้างศิลปิน ขณะที่ด้านการพัฒนา “สินค้าและบริการ” จำนวน 8 โครงการ อาทิ การพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย โครงการสนับสนุนงานมหกรรมผ้าไหม ไหมไทยสู่สากล โครงการยกระดับเทศกาลไทย : ประเพณีสงกรานต์ ลอยกระทง สู่นานาชาติ และโครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่นสู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย เป็นต้น ทั้งนี้ โครงการสำคัญตามนโยบายมุ่งหวังให้ทุนทางวัฒนธรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป