ก.แรงงาน ส่งผู้ตรวจกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ลงพื้นที่ตราด ตรวจเยี่ยมผลสัมฤทธิ์ โครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ SME 4.0 รวมกลุ่มผู้สูงอายุจักสานสร้างรายได้เลี้ยงตนเอง
นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) มอบหมายให้ นายสง่า วงศ์ษาพาน ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ลงพื้นที่เขตตรวจราชการที่ 9 เพื่อตรวจติดตามการพัฒนาฝีมือแรงงานของสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานตราด ตามโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ SME 4.0 ตรวจเยี่ยมการฝึกอบรมกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ และกลุ่มผู้สูงอายุ ตลอดจนโครงการเพิ่มทักษะกำลังแรงงานในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยเยี่ยมชมผลงานของผู้ผ่านการฝึกอบรม อาทิ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานบ้านคลองโอนและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขนมจีนบ้านทุ่งไก่ดัก โดยมีนางบัญฑิตา สุขสถิตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานตราด พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ
นายสุชาติ กล่าวว่า เพื่อให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงมอบหมายให้กระทรวงแรงงาน ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ให้สัมฤทธิ์ผลเป็นรูปธรรม ตนจึงมอบหมายให้สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน ทั้ง 77 จังหวัด เร่งดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว สำหรับสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดตราด ได้ดำเนินการพัฒนาทักษะและฝึกอาชีพให้กลุ่มแรงงานผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายไม่ทิ้งใครอยู่ข้างหลังของรัฐบาล โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้สูงอายุได้รวมกลุ่มกัน ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ โดยการพัฒนาทักษะฝีมือของตนเอง
ด้านนายสง่า วงศ์ษาพาน ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2562 ที่ผ่านมา กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ดำเนินการตามโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ SME 4.0 โดยส่งนักพัฒนาฝีมือแรงงานพันธุ์ใหม่ ที่ผ่านการฝึกอบรม ปลูกฝังแนวคิดและกระบวนการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน เข้าไปให้คำปรึกษาแนะนำและถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการและแรงงานในสถานประกอบการSME และวิสาหกิจชุมชน จำนวน 15,420 คน มีผู้เข้าร่วมโครงการ 16,464 คน ผ่านการฝึกอบรม 16,092 คน ส่วนกลุ่มแรงงานผู้สูงอายุทั่วประเทศตั้งเป้าดำเนินการ 8,160 คน มีผู้เข้าร่วมโครงการ 9,630 คน ผ่านการฝึกอบรม 9,533 คน ทั้งนี้สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานตราด ได้จัดทำหลักสูตร ตามความต้องการของตลาด ซึ่งผลการดำเนินการก็บรรลุเป้าหมาย โดยกลุ่มผู้สูงอายุประมาณ 20 คน สามารถสร้างรายได้ 6,000 บาท /คน/เดือน ซึ่งนอกเหนือจากการฝึกตามความต้องการของตลาดแรงงานแล้วผู้ที่สนใจสมัครฝึกอาชีพเพื่อนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้
“ จังหวัดตราด มีการดำเนินการฝึกอบรมทักษะอาชีพ โดยคัดเลือกประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ให้เข้าร่วมรับการฝึก พิจารณาคนที่มีความต้องการที่จะนำความรู้ไปประกอบอาชีพ ส่วนการฝึกการจักสานของกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ สนพ.ตราด ดำเนินการฝึก เป็นสิ่งยืนยันว่า นโยบายของทางรัฐบาล โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ดำเนินการฝึกอาชีพ สามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคง” อธิบดีกล่าวทิ้งท้าย