กรมประมงคว้า 6 รางวัลเลิศรัฐประจำปี 62 บทพิสูจน์แห่งความทุ่มเท

นายบรรจง  จำนงศิตธรรม  รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี พ.ศ. 2562 จำนวน 6 รางวัล ใน 2 สาขาได้แก่ สาขาบริการภาครัฐ จำนวน 3 รางวัล สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม จำนวน 3 รางวัล จากมติผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ และในปีนี้กรมประมงได้รับมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี พ.ศ. 2562 ซึ่งจัดโดยสำนักคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียติเป็นประธานมอบรางวัลในวันที่ 13 กันยายน 2562 ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งผลงานที่ได้รับมี ดังนี้

รางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ดังนี้

  • ประเภทบูรณาการข้อมูลเพื่อการบริการ : ระดับดีเด่น

             1) ระบบสารสนเทศในการออกใบอนุญาตให้ทำการงานในเรือประมง (Single Window 4 Fishing Fleet) เป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่าง กรมเจ้าท่า กรมประมง และกรมการจัดหางาน

  • ประเภทการบริการเป็นเลิศ : ระดับดีเด่น

2) การผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 1 : หัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม 1 มีคุณสมบัติในการควบคุมปริมาณสารอินทรีย์ในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ช่วยลดอัตราการเกิดโรคในสัตว์น้ำโดยเฉพาะโรคระบาดในกุ้ง อีกทั้งยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับเกษตรกรในการลดการใช้ยาและสารเคมีที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทำให้ผลผลิตมีความปลอดภัยไร้สารเคมีปนเปื้อน และเนื่องด้วยเกษตรในปัจจุบันมีความต้องการหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม 1   เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมประมงจึงได้มีการเพิ่มหน่วยผลิตเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร ซึ่งจากผลตอบรับที่ดีจึงส่งผลทำให้ผลงานนี้ได้รับรางวัลเป็นครั้งแรก

  • ประเภทนวัตกรรมการบริการ : ระดับดี

3) การควบคุมการทำการประมงพาณิชย์แบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้ระบบ Fishing Info : เป็นระบบที่ใช้ในการควบคุมการแจ้งเข้าแจ้งออกเรือประมง จะทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงข้อมูล ตรวจสอบข้อมูลสำคัญที่กำหนด พร้อมประมวลผลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก รวดเร็วให้แก่ประชาชน และสร้างมาตรฐานในการควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม IUU Fishing

รางวัลเลิศรัฐ สาขาบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ดังนี้

  • ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) ระดับดี

            4) โครงการอนุรักษ์กุ้งก้ามกรามลุ่มน้ำสวี : กรมประมงได้จัดทำโครงการดังกล่าว โดยเน้นรูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรและแหล่งน้ำชุมชนของตนเอง โดยการ

ดำเนินกิจกรรมสนับสนุนพันธุ์สัตว์น้ำ กุ้งก้ามกราม และคอยให้คำปรึกษาต่างๆเพื่อช่วยฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ  ในลุ่มน้ำสวีให้มีความสมบูรณ์ต่อไป

            5) โครงการส่งเสริมและพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชนในโครงการธนาคารปลา ชุมชน

หนองคู บ้านตูม ตำบลทองหลาง อำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา : การส่งเสริมและพัฒนาการมีส่วนร่วม

โดยยึดแนวทางการทำงานแบบบูรณาการระหว่างกรมประมง กับชุมชนซึ่งมีการส่งเสริมการพัฒนาแหล่งน้ำที่เป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำของชุมชนดังกล่าว ตลอดจนมีการแลกปัญหาอุปสรรค์ในการดำเนินโครงการธนาคารสัตว์น้ำ เพื่อให้นำไปปรับใช้และสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายธนาคารสัตว์น้ำที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

  • ประเภทรางวัลผู้นำหุ้นส่วนความร่วมมือ ระดับดีเด่น

          6) โครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วมบ้านซับสมบูรณ์ ตำบลทุ่งจังหัน อำเภอโนนสุวรรณ จังหวัดบุรีรัมย์ ผู้นำหุ้นส่วนความร่วมมือ นางหนูแดงทองใบ : โดยโครงการดังกล่าวดำเนินการโดยผู้ใหญ่บ้านคือ นางหนูแดง ทองใบ ผู้นำที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและผลักดันการทำงานแบบมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนจนนำไปสู่ความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เป็นแหล่งผลิตอาหารสัตว์น้ำที่เปรียบเสมือนธนาคารผลิตสัตว์น้ำของชุมชนเพื่อเป็นอาหาร และสร้างรายได้และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว OTOP ที่สืบสานความเป็นท้องถิ่นและเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการประมงในท้องถิ่นต่อไป

สำหรับรางวัลที่กรมประมงได้รับมานั้น แสดงให้เห็นถึงการดำเนินการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทรัพยากรสัตว์น้ำของไทย อุตสาหกรรมประมงไทย และเกษตรกรชาวประมงในด้านมีส่วนร่วมทำให้เกษตรกรสามารถฟื้นฟูแหล่งน้ำทรัพยากรสัตว์น้ำในชุมชนของตนเอง ถือเป็นอีกหนึ่งกำลังใจสำคัญในการที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ของกรมประมงทุกคน มีความตั้งใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด ท้ายนี้ต้องขอขอบคุณพี่น้องเกษตรกร ผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่กรมประมงทุกคนที่ร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติงาน เสียสละ อดทนในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนในภาคการประมงของไทย…รองอธิบดีกรมประมง กล่าว

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

13 กันยายน 2562