สำนักงาน ปปง. ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดกิจกรรมสัมมนาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามความเสี่ยงในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ รุ่นที่ 2

สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดโครงการบูรณาการการปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กิจกรรม การสัมมนาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามความเสี่ยงในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ: หลักสูตร Financial Investigation Course for the Northern Border Agencies (FIN) รุ่นที่ 2 ระหว่างวันที่ 19 – 25 มกราคม 2568 ณ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่ โดยเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2568 พลอากาศเอก สมคิด สุขบาง กรมวังผู้ใหญ่ประจำพระองค์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีปิด โดยมีนายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กล่าวรายงาน และมีหม่อมหลวง ดิศปนัดดา ดิศกุล เลขาธิการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย คณะผู้บริหารสำนักงาน ปปง. รวมถึงผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. เข้าร่วม

นายเทพสุฯ เลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า ยาเสพติดเป็นปัญหาระดับชาติและเป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการเร่งปราบปราม ซึ่งในการดำเนินงานต้องอาศัยความร่วมมือและการบูรณาการของทุกภาคส่วน การสัมมนาครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อป้องกันและปราบปรามยาเสพติด การฟอกเงิน และความผิดมูลฐานอื่น ๆ โดยการสัมมนาหลักสูตร FIN ได้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งครั้งที่ 1 จัดขึ้นเมื่อปี 2567 ซึ่งผลจากการสัมมนาครั้งก่อน สามารถนำไปสู่การขยายผลเพื่อยึดอายัดทรัพย์ได้จำนวน 80 ล้านบาท สำหรับปีนี้  ได้ดำเนินการจัดเป็นรุ่นที่ 2 โดยผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯ มาจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ตำรวจตระเวนชายแดน หน่วยเฉพาะกิจ   ไชยานุภาพ หน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 17 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 31 ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมทหารพรานกองทัพภาคที่ 3 สำนักงาน ป.ป.ส. และสำนักงาน ปปง. มุ่งเน้นการบูรณาการ    ความร่วมมือในลักษณะของการสร้างองค์ความรู้และฝึกปฏิบัติทักษะที่จำเป็นในการปฏิบัติงานตามกฎหมายให้กับหน่วยงานปฏิบัติในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ และเพิ่มความร่วมมือกับหน่วยงานปฏิบัติในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างการบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมให้ครอบคลุมพื้นที่บริเวณชายแดนจากเหนือจรดใต้ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติ

กิจกรรมในการสัมมนาฯ ประกอบด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 การอภิปรายแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น    และพัฒนาทักษะการสืบสวนทางการเงิน เพื่อการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และความผิดมูลฐานอื่น ๆ  ในบริเวณพื้นที่ชายแดนซึ่งมีความเสี่ยงสูง โดยให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์และการวิเคราะห์ข้อมูลจากเครื่องมือพิเศษที่ติดตั้งในเขตพื้นที่ชายแดน การสกัดกั้นเส้นทางการเงินเพื่อป้องกันการนำเข้ายาเสพติด การดำเนินคดีในความผิดฐานฟอกเงิน นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯ มีการแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติ การตรวจค้นและสืบสวนเส้นทางการเงิน โดยได้รับการสนับสนุนข้อมูลธุรกรรมทางการเงินของสำนักงาน ปปง. ซึ่งจะสามารถนำไปสู่การรวบรวมพยานหลักฐาน และขยายผลเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้ต่อไป นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์และรับฟังความคิดเห็นกับตัวแทนกลุ่มอาสาทำความดีในพื้นที่โครงการร้อยใจรักษ์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งใช้แนวทางการพัฒนาเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งและลดโอกาสในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือก่ออาชญากรรมซ้ำในพื้นที่จากคดีนายเล่าต๋า แสนลี่ ทั้งนี้ ปัจจัยความสำเร็จของโครงการร้อยใจรักษ์ คือ การสร้างความเชื่อมั่นและพัฒนาโครงการฯ อย่าวสอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ อีกทั้งสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยการสร้างความร่วมมือกันระหว่างคนในพื้นที่และหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง

นายเทพสุฯ เลขาธิการ ปปง. กล่าวเพิ่มเติมว่า การสัมมนาฯ ในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานปราบปรามอาชญากรรมยาเสพติด โดยการใช้มาตรการยึดทรัพย์ควบคู่กับการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิด ซึ่งจะทำให้การปราบปรามยาเสพติดและการฟอกเงินมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถตัดวงจรอาชญากรรมให้หมดสิ้นไป