กรมการแพทย์แผนไทยฯ นำทีมบุคลากร ศึกษาดูงานพื้นที่ต้นแบบด้านงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมระดับประเทศ เพื่อพัฒนางานด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้มีศักยภาพเทียบเท่าระดับสากล

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นำคณะบุคลากรศึกษาดูงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพสูง รวมถึงศึกษาการต่อยอดการ พัฒนานวัตกรรมดิจิทัลทางการแพทย์ การพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลทางการแพทย์และร่วมศึกษาการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสมุนไพร ในพื้นที่ต้นแบบ จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง เพื่อพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพด้านงานวิจัย ผสมผสานเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกให้มีศักยภาพเทียบเท่าระดับสากล

วันที่ 23-24 มกราคม 2568 กองวิชาการและแผนงาน กองเศรษฐกิจสมุนไพร และสถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ร่วมกันจัด ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดทำแผนงานวิจัยด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยมี นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการกองวิชาการและแผนงาน และ ดร.ภญ.มณฑกา ธีรชัยสกุล ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจสมุนไพร นำทีมผู้บริหารและบุคลากรจากทั้งสามหน่วยงาน ร่วมจัดทำแผนงานวิจัยด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในพื้นที่สำคัญ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพด้านงานวิจัย ผสมผสานเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในอนาคต

โดยมีกิจกรรมสำคัญ คือ 1.จัดทำแผนการวิจัยด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 2. ศึกษาดูงาน จำนวน 3 แห่ง ดังนี้
1. ศึกษาดูงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพสูง ณ บริษัท สเปเชี่ยลตี้ เนเชอรัล โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) จังหวัดชลบุรี บริษัท สเปเชี่ยลตี้ เนเชอรัล โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตและพัฒนาสารสกัดธรรมชาติสำหรับอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยใช้เทคโนโลยีทันสมัย เช่น Supercritical CO2 และมาตรฐาน ISO, GMP เพื่อรักษาคุณภาพและความปลอดภัย ทีมวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์สุขภาพผู้บริโภค พร้อมเน้นความยั่งยืน ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การศึกษาดูงานครั้งนี้เผยให้เห็นการผสานเทคโนโลยีกับธรรมชาติและสร้างความเข้าใจในคุณภาพและความยั่งยืนในอุตสาหกรรม

2. ศึกษาดูงานการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลทางการแพทย์ การพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลทางการแพทย์ ณ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) วังจันทร์ วัลเลย์ จังหวัดระยอง สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2558 โดยกลุ่ม ปตท. เพื่อเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มุ่งเสริมสร้างความสามารถของประเทศอย่างยั่งยืน โครงสร้างและสาขาแบ่งการวิจัยออกเป็น 4 ศูนย์ ได้แก่ เทคโนโลยีวัสดุ พลังงานสะอาด เทคโนโลยีสารสนเทศ และชีววิทยาโมเลกุล กิจกรรมสำคัญในครั้งนี้ คือ ฟังบรรยายแนวคิดและการดำเนินงาน เยี่ยมชมสถานที่ผ่านการบรรยายและภาพสรุป พร้อมทั้ง พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับนักวิจัยการร่วมมือครั้งนี้ อาจนำเทคโนโลยีดิจิทัลในการประยุกต์กับงานการแพทย์แผนไทยและทางเลือกในการเพิ่มประสิทธิภาพของการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สร้างฐานข้อมูลด้านสมุนไพรและการแพทย์ เพื่อการวิเคราะห์และวิจัยที่แม่นยำได้ ต่อไป

3. ศึกษาดูงานการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสมุนไพร เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงในภาคตะวันออกของไทย มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น สมุนไพร เทคโนโลยีชีวภาพ และพลังงานสะอาด เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน กิจกรรมในครั้งนี้ ได้ร่วมศึกษาดูงานการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นเทคนิคการขยายพันธุ์พืชที่ช่วยเพิ่มผลผลิตและความบริสุทธิ์ของพืชสมุนไพร โดยใช้กระบวนการทางชีวภาพเพื่อพัฒนาพันธุ์พืชให้มีคุณภาพสูง ปราศจากโรค และเหมาะสมต่อการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมยา อาหารเสริม และผลิตภัณฑ์ความงาม ชมห้องปลอดเชื้อ มีระบบควบคุมแสง ความชื้น อุณหภูมิ และสารอาหารที่เหมาะสม โดยตัวอย่างสมุนไพร: ฟ้าทะลายโจร บัวบก กระชายดำ และยังมีความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อพัฒนาพันธ์พืชหายาก หรือพืชอัตลักษณ์ถิ่น อีกด้วย

นอกจากการศึกษาดูงานแล้วยังมีวิทยากรจากสมาคมแพทย์สตรี ให้ความรู้ฝึกปฏิบัติสร้างทัศนคติในการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรม ณ ห้องประชุมโรงแรมคามิโอ แกรนด์ ระยอง การประชุมครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทย ในการวางรากฐานเพื่อพัฒนางานด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ทั้งในเชิงวิจัย เทคโนโลยี และการบริการสุขภาพให้ก้าวไกลและสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล