วธ.จับมือ กทม.เปิดมหกรรมศิลปวัฒนธรรมไทย “บัณฑิตพัฒนศิลป์ สืบสานศิลป์ แผ่นดินสยาม” วันที่ 25-26 ม.ค.นี้ ณ ลานคนเมือง กรุงเทพฯ

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2568 นางสาวพลอย ธนิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรมไทย “บัณฑิตพัฒนศิลป์ สืบสานศิลป์ แผ่นดินสยาม” และเปิดนิทรรศการแสดงผลงานทัศนศิลป์สร้างสรรค์ ระดับนานาชาติ โดยมี นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นางนิภา โสภาสัมฤทธิ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร ศิลปินแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านนาฏศิลป์ คีตศิลป์และทัศศิลป์ แขกผู้มีเกียรติ เครือข่ายด้านศิลปะและวัฒนธรรมและสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ลานคนเมือง กรุงเทพมหานคร

นางสาวพลอย ธนิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อน Soft Power สร้างเสน่ห์วิถีไทย ครองใจคนทั้งโลกและมุ่งเผยแพร่ Soft Power อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยด้านต่างๆ เช่น ท่องเที่ยว อาหาร เฟสติวัล (เทศกาล) ภาพยนตร์ ศิลปะ ดนตรี เป็นต้น เพื่อให้ Soft Power ของไทยเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปสู่ระดับนานาชาติ โดยปีนี้วธ.มุ่งขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลและงานวัฒนธรรมด้วย 4 นโยบาย 3 แนวทาง 2 รูปแบบ สู่ 1 เป้าหมาย ทำให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วโลกมาเที่ยวในมิติด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 25 ประเทศที่มีอิทธิพลด้าน Soft Power ในมิติวัฒนธรรมในปีพ.ศ. 2570 ดังนั้น วธ.ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เอกชนและเครือข่ายทางศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ มุ่งสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทยไปสู่นานาชาติ และขับเคลื่อน Soft Power ต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ประชาชนและชุมชน ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและพัฒนาเศรษฐกิจชาติตามนโยบายของรัฐบาล

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า วธ.โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และเครือข่ายทางศิลปะและวัฒนธรรม จัดงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรมไทย “บัณฑิตพัฒนศิลป์ สืบสานศิลป์ แผ่นดินสยาม” ระหว่างวันที่ 25 – 26 มกราคม 2568 ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ภายในงานมีกิจกรรม ได้แก่ การบรรเลงและขับร้องดนตรีไทย ดนตรีสากลและดนตรีพื้นเมือง 4 ภาค การแสดงนาฏศิลป์ไทย นาฏศิลป์พื้นเมือง 4 ภาคและนาฏศิลป์สร้างสรรค์โดยมีนักแสดงจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เข้าร่วมแสดงทั้งหมดกว่า 1,000 คน

นอกจากนี้ มีนิทรรศการแสดงผลงานด้านทัศนศิลป์และช่างศิลป์นานาชาติ ซึ่งเป็นผลงานของศิลปินไทยและศิลปินต่างชาติที่เข้าร่วมโครงการความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมด้านทัศน์ศิลป์กับสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์จำนวน 9 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ เวียดนาม ศรีลังกา อินโดนีเซีย มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ประกอบด้วยศิลปินไทย 57 ผลงาน และศิลปินต่างชาติ 45 ผลงาน รวมทั้งหมด 102 ผลงาน เช่น ผลงานของผู้ช่วยศาสตราจารย์เด่น หวานจริง ถ่ายทอดการเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติผ่านงานทัศนศิลป์ชุด Home night and day โดยใช้เทคนิคสีอะคริลิกบนผ้าใบ ผลงานของรองศาสตราจารย์ศุภชัย สุขีโชติ ถ่ายทอดเรื่องความรัก ความสุขและความอบอุ่นในครอบครัวผ่านผลงานชุด Charcoal 67 ผ่านสีสันและรูปทรงในภาพวาดสีน้ำ ผลงานของ Trinh Tuan ศิลปินชาวเวียดนาม บอกเล่าเรื่องราวของความรักผ่านผลงานชุด Love Story โดยใช้เทคนิคแล็คเกอร์บนกระดานไม้ ผลงานของ Supriatna S.Sn.,M.Sn ศิลปินชาวอินโดนีเซียถ่ายทอดเรื่องของตำนานราชินีแห่งชายฝั่งตอนใต้ของเกาะชวาผ่านผลงานชุด The Myth Queen of The South Beach โดยใช้เทคนิคสีอะคริลิกบนผ้าใบ และกิจกรรมเวิร์คช้อปด้านทัศนศิลป์โดยการสาธิตวาดภาพเหมือนบุคคล รวมทั้งมีการจำหน่ายสินค้าและอาหารพื้นเมือง 4 ภาค

“งานครั้งนี้มีกิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมและเผยแพร่งานด้านนาฏศิลป์ ดนตรี คีตศิลป์ ทัศนศิลป์ และช่างศิลป์ 4 ภูมิภาคทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ แต่ละภาคล้วนมีอัตลักษณ์ ความโดดเด่นเฉพาะตัวและมีความวิจิตร ตระการตา เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ความเป็นไทยสะท้อนถึงรากเหง้าที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยที่ตกผลึกมาอย่างยาวนาน เช่น การบรรเลงและขับร้องดนตรีไทย ดนตรีสากล เช่น วงสังคีตรังสรรค์ แคนวง วงเครื่องสายปี่ชวา วงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องคู่ วงดนตรีสังกัดกรุงเทพมหานคร และดนตรีพื้นเมือง 4 ภาค นอกจากจะได้รับชมการแสดงแนวอนุรักษ์จากวิทยาลัยนาฏศิลป อาทิ การแสดงชุดระบำตำนานนางสงกรานต์ การแสดงชุดนาฏยศิวะอัปสรา กลองยาวสุโขทัย ฟ้อนเต้ยเกี้ยว นอกจากนี้ ยังมีการแสดงสร้างสรรค์ใหม่ ๆ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์กว่า 14 ชุด และการแสดงจากมหาวิทยาลัยเครือข่ายด้านศิลปวัฒนธรรมกว่า 10 ชุด แสดงถึงศิลปวัฒนธรรมแต่ละภูมิภาค เช่น การแสดงสร้างสรรค์ชุดเส้นไหมนฤมิตร วิจิตรพัสตราภรณ์ พยุหพลรณยุทธ์ ริ้วฝ้ายลายหลุยส์ ผู้กล้าบางขลัง อัตลักขณายาหยี เส้นสายลายคราม เสน่ห์เมืองย่าโม เป็นการเผยแพร่ Soft Power ของไทยโดยเฉพาะด้านนาฎศิลป์ ดนตรี และทัศนศิลป์ไปสู่นานาชาติและส่งเสริมการท่องเที่ยวในมิติทางศิลปะและวัฒนธรรม ขอเชิญชวนประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งในกรุงเทพฯและจังหวัดต่าง ๆ มาเที่ยวชมงานระหว่างวันที่ 25 – 26 มกราคม 2568 ณ ลานคนเมือง กรุงเทพฯ เข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ” นางสาวพลอย กล่าว