กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะคนไทยดูแลสุขภาพช่วงเทศกาลตรุษจีนด้วยการปรับพฤติกรรมการกินและเสริมสุขภาพด้วยสมุนไพร พร้อมเผยเทคนิคกดจุดตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน เพื่อส่งเสริมสุขภาพ
นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยว่า วันตรุษจีนมักมีการรวมญาติ พบปะสังสรรค์ รับประทานอาหารร่วมกัน โดยอาจนำอาหารไหว้มาปรุงเป็นเมนูอาหาร ซึ่งบางครั้งมักเลี่ยงไม่ได้กับอาหารประเภทที่มีแป้ง น้ำตาล และไขมันสูง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงโรค NCDs เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง ดังนั้นในเทศกาลเช่นนี้ อาจต้องเพิ่ม และปรับลดพฤติกรรมการปรุงอาหาร ให้ลดความหวาน มัน เค็มลงให้มาก และเพิ่มการบริโภคผักสด ธัญพืช โปรตีนไขมันต่ำ อีกทั้ง นำสมุนไพรที่ช่วยดูแลสุขภาพในช่วงนี้ได้ เช่น ขึ้นฉ่าย มีฤทธิ์เย็น รสหวานปนขม ช่วยลดความดันโลหิต กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต มะระขี้นก รสขม มีสรรพคุณ แก้ไข้ ช่วยเจริญอาหาร มีสารสำคัญ Charantin ที่มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ชาเก็กฮวย แก้ร้อนใน กระหายน้ำทำให้ร่างกายสดชื่น ดอกเก๊กฮวยมีปริมาณของโพแทสเซียมสูง ซึ่งมีผลดีต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด ลดความดันโลหิต ชาดอกคำฝอย มีสรรพคุณ ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ป้องกันไขมันอุดตันในเส้นเลือด ชาปัญจขันธ์ (เจียวกู้หลาน) สรรพคุณ ช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิด LDL และ รักษาสมดุลในการเกิดของไขมัน HDL ลดความเสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลัน ช่วยทำให้เกิดกระบวนการเผาผลาญไขมันได้ดี นอกจากนี้ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายด้วย
ด้านนายแพทย์กุลธนิต วนรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์ทางเลือก กล่าวเสริมว่า ช่วงตรุษจีนอาจมีการรับประทานอาหารเป็นจำนวนมาก และอาจทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย ซึ่งสามารถใช้การกดจุดตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนในการบรรเทาอาการได้ ดังนี้ 1) จุดเน่ยกวน ช่วยปรับชี่ (ลมปราณ) และเลือดให้ไหลเวียนดีขึ้น วิธีหาจุดเน่ยกวน ใช้ 3 นิ้ว (นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง) วัดขึ้นมาจากข้อมือ จุดจะอยู่ตรงกลางแขน ใช้นิ้วหัวแม่มือกดคลึง 2–3 นาที ทั้งสองข้าง 2) จุดจู๋ซานหลี่ ช่วยเสริมสร้างชี่ (ลมปราณ) กระเพาะอาหาร วิธีหาจุดจู๋ซานหลี่ ใช้ 4 นิ้ว (นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง นิ้วก้อย) วัดลงมาจากตาเข่าด้านนอก และห่างจากกระดูกหน้าแข้งอีกความกว้างนิ้วกลาง ทั้งนี้การกดจุดสามารถใช้ร่วมกับวิธีอื่นๆได้ และควรควบคู่กับการปรับพฤติกรรม เช่นออกกำลังกายแบบเบาๆ เช่น ไทเก็ก หรือชี่กง หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามโดยตรงได้ที่ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์ที่เฟซบุ๊กhttps://www.facebook.com/dtam.moph และไลน์แอดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก line @DTAM