วอนรัฐทำระบบแจ้งเตือน ฝุ่น PM2.5 เร่งด่วน! ย้ำข้อเสนอภาคี HIA เร่งคัดกรอง “มะเร็งปอด” ให้ประชาชน

นพ.สุเทพ” ชูกลไกนโยบายสาธารณะ “สช.” ร่วมเสนอทางออกแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 พร้อมย้ำฉันทมติจากภาคีเครือข่ายบนเวที “HIA Forum 2567” เสนอแนวทางระยะเฉพาะหน้า พัฒนาระบบการแจ้งเตือน-เฝ้าระวัง ให้ความสำคัญกับการตรวจคัดกรองโรคแก่ประชาชน พร้อมเรียกร้องหน่วยงานรัฐพัฒนาระบบฐานข้อมูลคุณภาพอากาศของประเทศให้เกิดความสมบูรณ์

นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์วิกฤตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ที่มีคุณภาพอากาศอยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) ต่อเนื่องหลายวัน จนหลายฝ่ายต่างกำลังหาแนวทาง เร่งระดมมาตรการแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขอความร่วมมือให้ทำงานที่บ้าน (Work From Home) การใช้บริการรถขนส่งสาธารณะ ฯลฯ

นพ.สุเทพ กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งมีบทบาทในการสานพลังให้เกิดกระบวนการจัดทำนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ก็ได้ให้ความสำคัญและมีข้อเสนอเกี่ยวกับปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในหลายครั้ง นับตั้งแต่ปี 2555 ที่เกิดเป็น มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง “การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ” ซึ่งก็ได้มีการทบทวนมติอีกครั้งในปี 2558 เพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในเวลานั้น

นพ.สุเทพ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าแม้หลายภาคส่วนจะมีความตื่นตัว และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาเป็นเวลานาน หากแต่ปัญหามลพิษทางอากาศเองก็มีความสลับซับซ้อน และเกี่ยวพันกับหลายภาคส่วน จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือในการขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กันทุกองคาพยพ ล่าสุดในเวทีการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA FORUM) ประจำปี 2567 ที่ สช. และหน่วยงานภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดขึ้นใน จ.เชียงใหม่ ที่ประชุมก็ได้มีฉันทมติร่วมกันแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 และสภาวะโลกร้อนที่กำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรง อันก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน

“จากข้อมูลสถิติตั้งแต่ปี 2563-2566 พบว่ามีผู้ป่วยในกลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศเพิ่มมากขึ้นในอัตราก้าวหน้าทุกๆ ปี และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 (ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน) ได้รับการยืนยันว่าเป็นปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอด งานวิจัยพบว่า PM2.5 กระตุ้นการเกิดความเครียดออกซิเดชันและการอักเสบ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม การสัมผัส PM2.5 ในระยะสั้นยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากมะเร็งชนิดต่าง ๆ เช่น มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยเพิ่มอัตราการเสียชีวิตถึง 4%

(ข้อมูล: อ้างอิง 1 Chen et al., 2024 กลไกที่ PM2.5 ส่งผลต่อมะเร็งปอด -2 Kosanpipat et al., 2024 ผลของ PM2.5 ต่ออัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย NSCLC -)

สำหรับประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพหนักที่สุด เวที HIA FORUM เมื่อปี 2567 ภาคีเครือข่ายต่างๆ จึงได้ร่วมกันมีข้อเสนอ พร้อมเรียกร้องให้ปฏิรูประบบการจัดการมลพิษทางอากาศและสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาพดี” นพ.สุเทพ กล่าว

สำหรับข้อเสนอจากที่ประชุม HIA FORUM ปี 2567 ซึ่งเรียกร้องต่อ “รัฐบาลและหน่วยราชการส่วนกลาง” อาทิ ปรับปรุงวิธีการจัดสรรงบประมาณให้เอื้อต่อการดับไฟป่า ปฏิรูปนโยบายโดยเปลี่ยนแปลงวิธีการแก้ปัญหาแบบตั้งรับเป็นเชิงรุก ยุตินโยบายที่ปล่อยให้ธุรกิจเอกชนผลักภาระความรับผิดชอบต่อมลพิษทางอากาศ ใช้มาตรการทางภาษีเพื่อช่วยลดและขจัดแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ สนับสนุนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหา เจรจาความร่วมมือกับประเทศเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน เป็นต้น

ขณะที่ระยะเฉพาะหน้า ที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศได้อย่างเด็ดขาด ขอให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พัฒนาระบบการแจ้งเตือน เฝ้าระวัง ตลอดจนส่งเสริมความรอบรู้ด้านการป้องกันผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ และที่สำคัญต้องปรับปรุงระบบสวัสดิการสุขภาพในการตรวจคัดกรองโรคให้กับประชาชน ส่วนในระยะเร่งด่วนก่อนถึงฤดูฝุ่น ได้เรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐพัฒนาระบบฐานข้อมูลคุณภาพอากาศของประเทศ ให้เกิดความสมบูรณ์และนำไปสู่การจัดทำแผนการแก้ปัญหา นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอต่อ “หน่วยราชการในพื้นที่และท้องถิ่น” อาทิ บูรณาการอำนาจหน้าที่และภารกิจเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการควบคุมและจัดการกับฝุ่น PM2.5 อย่างเบ็ดเสร็จ บูรณาการบุคลากร ภารกิจ และงบประมาณร่วมกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในจัดการกับแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ สนับสนุนทุกภาคส่วนเพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นต้น

ขณะเดียวกันก็มีข้อเรียกร้องต่อ “ภาคอุตสาหกรรม” ที่ขอให้บริษัทเอกชนด้านเกษตรและอาหารแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาฝุ่น PM2.5 ปฏิเสธไม่รับซื้อผลผลิตที่มีการเผาในกระบวนการ ตลอดจนข้อเสนอต่อ “ประชาชน ชุมชน” ผู้ที่จำเป็นจะต้องใช้ไฟในการยังชีพ ให้ใช้ไฟเท่าที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต แต่ในช่วงที่สถานการณ์คุณภาพอากาศเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ก็ควรยุติการใช้ไฟเพื่อเตรียมการเพาะปลูก การใช้ไฟเพื่อเก็บหาของป่า และการใช้ไฟเพื่อล่าสัตว์

“ส่วนร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่หลายฝ่ายต่างพยายามผลักดันออกมา รวมกว่า 7 ฉบับ ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของรัฐสภา ก็คาดว่าจะมีความคืบหน้าเพิ่มเติมในเร็วๆ นี้ ซึ่งก็ถูกคาดหมายว่าจะเป็นกลไกที่ช่วยให้เรามีทางออก และมีความหวังเกี่ยวกับเรื่องอากาศสะอาดในประเทศไทย เพราะมีการใส่เครื่องมือใหม่ๆ เช่น เครื่องมือทางการปฏิบัติ เครื่องมือในการประเมิน เครื่องมือทางด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน เข้ามาใช้ในการขับเคลื่อนภารกิจอากาศสะอาดด้วย” นพ.สุเทพ กล่าว

ด้าน น.ส.สุรีย์รัตน์ ตรีมรรคา เลขานุการคณะทำงานสภาลมหายใจเชียงใหม่ ได้กล่าวในเวที HIA FORUM ประจำปี 2567 ตอนหนึ่งว่า จากประสบการณ์การทำงานของเครือข่ายสภาลมหายใจฯ ในฐานะขบวนการภาคประชาสังคมที่รวมตัวกันตั้งแต่ปี 2562 หลังเผชิญสถานการณ์หมอกควันไฟป่าที่รุนแรง พบว่าหัวใจสำคัญของการทำงาน คือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ที่จะเข้ามาร่วมออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหา ประเมินผล และสรุปบทเรียนไปด้วยกัน ที่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจและลดต้นตอสาเหตุลงไปได้

น.ส.สุรีย์รัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการจุดไฟเผาที่ยังลดลงไปได้ไม่ทั้งหมด เพราะยังมีความเกี่ยวโยงกับอีกหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ดิน สิทธิชุมชน ตลอดจนทรัพยากรในการบริหารจัดการไฟป่า อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น ประเด็นที่สำคัญคือเรื่องของสุขภาพ ที่เราต้องเผชิญการสูญเสียคนที่อายุไม่มากไปกับโรคมะเร็งปอด ดังนั้นเราจึงควรที่จะต้องเร่งให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงเข้าถึงการคัดกรองโรคโดยเร็ว โดยที่ไม่ต้องรอให้ป่วย เพราะหากเจอเร็ว รักษาเร็ว ก็ย่อมลดอัตราการสูญเสียชีวิตลงไปได้

สำหรับ การผลักดัน พรบ. อากาศสะอาด ให้ประกาศใช้ได้ทันปี 2568 สช จะมี การขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อที่จะให้มีผลอย่างเป็นรูปธรรม และประกาศใช้ ซึ่งจะมีการจัดเวที Policy Dialogue เรื่องนี้ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ นี้

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในปี 2566 มีผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศจำนวน 16,123 คน เพิ่มขึ้นจาก 14,283 คนในปี 2565 และ 11,881 คนในปี 2564   โรคมะเร็งปอดเป็นหนึ่งในโรคที่มีความสัมพันธ์กับการสัมผัส PM2.5 โดยเฉพาะในภาคเหนือของประเทศ ข้อมูลระหว่างปี 2559-2561 พบว่า ภาคเหนือมีอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งปอดสูงที่สุด โดยในเพศชายพบอัตรา 33.1 ต่อแสนประชากร และในเพศหญิง 19.9 ต่อแสนประชากร ขณะที่ภาคอีสานมีอัตราต่ำสุด คือ เพศชาย 16.9 และเพศหญิง 8.4 ต่อแสนประชากร

การวิเคราะห์แหล่งที่มา

ลำดับ แหล่งข้อมูล ประเด็นสำคัญ อ้างอิง

1 สธ.ห่วงฝุ่นพิษ PM 2.5 ภัยสุขภาพ เผยผู้ป่วยมลพิษทางอากาศปีนี้ 16,123 คน จำนวนผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นในปี 2566 –

2 แพทย์ มช.ระบุ ฝุ่น PM2.5 มีผลทำให้ผู้ป่วยมะเร็งปอดทางภาคเหนือพุ่งสูง อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดในภาคเหนือสูงที่สุดในประเทศ –