สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 26 ม.ค. 68 เวลา 7.00 น.

1.สภาพอากาศวันนี้ : บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก มีอุณหภูมิลดลง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง

คาดการณ์ : วันที่ 27-28 ม.ค. 68.บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ทำให้ประเทศไทยมีอากาศหนาวเย็นลงกับมีลมแรง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักบางแห่ง

2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 74% ของความจุเก็บกัก (59,556 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 61% (35,341 ล้าน ลบ.ม.)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 3 แห่ง ดังนี้
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ ลำตะคอง และสิรินธร

3. คุณภาพน้ำ : แม่น้ำสายหลัก 4 สาย (เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง) อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

4. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 68 นายฉัตริน จันทร์หอม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง พร้อมด้วย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้รับมอบหมายจากนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ร่วมหารือกับผู้อำนวยการใหญ่ด้านภารกิจทรัพยากรน้ำของธนาคารโลก (World Bank) และคณะ ในประเด็นเรื่องความมั่นคงทางทรัพยากรน้ำและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ ห้องรับรอง 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดย สทนช. ได้หารือเกี่ยวกับการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำของประเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความมั่นคงโดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โดยทั้งสองฝ่ายจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานดำเนินการร่วมกันประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และประสบการณ์จากธนาคารโลก พิจารณาความเหมาะสมของรูปแบบและการจัดลำดับความสำคัญของโครงการซึ่งรวมถึง โครงการประแสร์-หนองค้อ-บางพระ โครงการระบบส่งน้ำพานทอง –.อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ตลอดจนแนวทางการดำเนินการในขั้นตอนต่อไปสำหรับโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง นอกจากนี้ ยังได้หารือเกี่ยวกับแผนงานและแนวทางการเสริมสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ นำไปสู่การพัฒนาด้านน้ำอย่างครอบคลุมและยั่งยืนต่อไป

5. การเตรียมการรับมือภาวะน้ำแล้ง :

5.1 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินงานโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1) บ้านโต่งโต้น หมู่ที่ 4 ต.รัตนวารี อ.หัวตะพาน
จ.อำนาจเจริญ 2) บ้านหนองโน หมู่ที่ 6 ต.โพนทอง อ.เสนางคนิคม จ.อำนาจเจริญ 3) บ้านหนองชุม หมู่ที่ 6 ต.โคกนาโก อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร 4) บ้านยางเครือ หมู่ที่ 4 ต.บึงแก อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร พร้อมแนะนำการใช้งานระบบประปาบาดาลเพื่อการเกษตร ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำ และการบำรุงรักษาระบบประปาบาดาลให้แก่กลุ่มเกษตรกร เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องอุปกรณ์และประโยชน์ ที่เกษตรกรจะได้รับจากโครงการ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 32 ราย พื้นที่การเกษตร ไม่น้อยกว่า 240 ไร่

5.2 จังหวัดแพร่ ลงเรือสำรวจลำน้ำยมแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้ง เร่งด่วน ที่บริเวณท่าน้ำศรีชุม ต.ในเวียง อ.เมือง จ.แพร่ เพื่อตรวจสอบสถานการณ์น้ำในลำน้ำยม ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ประสบปัญหาท่วมและภัยแล้งเป็นประจำ เพื่อกำหนดแนวทางในการจัดการและแก้ไขปัญหาดังกล่าว เบื้องต้นว่า การแก้ไขปัญหาน้ำในลำน้ำยม อาจพิจารณาการทำพนังริมแม่น้ำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมถึงการหาวิธีการที่เหมาะสมในการป้องกันน้ำท่วมและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในอนาคต