วันที่ 24 มกราคม 2568 นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลการประกวดข้อเสนอโครงการเพื่อพัฒนาเมืองแห่งศิลปะ ปี 2568 โดยมีนายวิเชียร สุขสร้อย เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางเกษร กำเหนิดเพ็ชร รองผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) คณะกรรมการการพัฒนาศักยภาพเมืองแห่งศิลปะ ศิลปินรางวัลศิลปาธร ผู้ได้รับรางวัลการประกวดฯ เครือข่ายศิลปิน แขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ห้องออดิทอเรียม หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพฯ
นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยได้ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนสู่การเป็นเมืองแห่งศิลปะมาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน โดยได้คัดเลือกเมืองแห่งศิลปะ จำนวน 3 เมือง ได้แก่ จังหวัดกระบี่ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดนครราชสีมา เป็นพื้นที่นำร่องโครงการดังกล่าว พร้อมทั้งดำเนินการส่งเสริมกิจกรรมในพื้นที่นำร่องทั้ง 3 จังหวัดมาอย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้สามารถนำคุณค่าทางวัฒนธรรมของแต่ละเมืองมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมและนำรายได้เข้าสู่ประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยในปีงบประมาณ 2568 สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้จัดกิจกรรมประกวดข้อเสนอโครงการเพื่อพัฒนาเมืองแห่งศิลปะ ปี 2568 เปิดรับข้อเสนอโครงการเพื่อดำเนินการในจังหวัดกระบี่ เชียงราย และนครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นที่เมืองแห่งศิลปะ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนฐานทุนวัฒนธรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ซึ่งมีผู้สนใจส่งโครงการเข้าร่วมการประกวดจำนวนทั้งสิ้น จำนวน 66 โครงการ ได้แก่ จังหวัดกระบี่ จำนวน23 โครงการ จังหวัดเชียงราย จำนวน 30 โครงการ และจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 13 โครงการ
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า สำหรับคณะกรรมการการพัฒนาศักยภาพเมืองแห่งศิลปะ ซึ่งประกอบด้วย คณะผู้บริหารสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยสาขาต่าง ๆ และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดในพื้นที่เมืองแห่งศิลปะทั้ง 3 จังหวัด ได้พิจารณาตัดสินฯ โดยเน้นประเด็นการตอบสนองการพัฒนาเมืองแห่งศิลปะ การเกิดผลกระทบ (Impact) ต่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งความเป็นไปได้ของโครงการที่จะเกิดขึ้นจริงในพื้นที่ และความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการเมื่อเทียบกับงบประมาณที่ได้รับ โดยในรอบคัดเลือกมีโครงการที่ได้รับการพิจารณาจำนวนทั้งสิ้น 35 โครงการ และในรอบตัดสินมีผู้เสนอโครงการที่ได้รับรางวัล จำนวนทั้งสิ้นจำนวน 27 ราย ได้แก่
รางวัลดีเด่น จังหวัดละ 4 รางวัล รวม 12 รางวัล ได้รับโล่เกียรติยศ และเงินรางวัล จำนวน 50,000 บาท โดยผู้ได้รับรางวัลดีเด่นจะได้รับการสนับสนุนการสร้างสรรค์งานตามข้อเสนอโครงการ ดังนี้ จังหวัดกระบี่ โครงการ Street Art ชุมชนยลวิถีบ้านแหลมสัก โดย ผศ.ดร.สุธิดา ภูเก้าล้วน โครงการยลยินศาสตร์ศิลป์เมืองกระบี่ โดย นายธรรมดิวิชย์ ศรีรุ้ง โครงการขยะทะเลอันดามันสร้างศิลป์ : PP เกาะแห่งศิลป์ โดย นายณรงค์ สัญจร โครงการเทศกาลภาพยนตร์สั้นกระบี่ (Krabi Pride Film Festival 2025) โดยนางสาวคอดียะห์ มาทอง จังหวัดเชียงราย โครงการ “East Meets West: A Chiang Rai Journey in Sound and Story” เทศกาลดนตรีและสื่อมัลติมีเดียร่วมสมัยแห่งเชียงราย โดย ผศ.ดร.องอาจ อินทนิเวศ โครงการทุกที่คือแกลเลอรี พัฒนาสถานประกอบการและชุมชนในจังหวัดเชียงรายให้เป็นพื้นที่ทางเลือกสำหรับจัดแสดงศิลปะร่วมสมัย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์และส่งเสริมความเป็นเมืองศิลปะที่ยั่งยืน โดยนางสาวกีรติ วุฒิสกุลชัย โครงการศิลป์ ล่องกอง โดยนายนิพนธ์ ตาตน โครงการเทศกาลแอนิเมชันนานาชาติ ภูแล 2568 โดยนายรัฐ จำปามูล
จังหวัดนครราชสีมา โครงการเทศกาลโคราซีมา เฟียสต้า (Corazema Fiesta Festival) โดย นายนิมิตร พิพิธกุล โครงการการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะและการออกแบบเพื่อเพิ่มมูลค่า หัวข้อ “พิมาย จากอารยธรรมสู่ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย” โดย รศ.ชยารัฐ จุลสุคนธ์ โครงการพิมายฬองวีค: มรสุมฝัน (Phimailongweek 2025 – Midnight Monsoon) โดย นายพสธร วัชรพาณิชย์ โครงการศิลปะเซรามิกบนโต๊ะอาหาร : สรรค์สำรับระดับมิชลิน โดยนายจิรายุ วัยวุฒิ
นอกจากนี้ รางวัลชมเชย จังหวัดละ 5 รางวัล รวม 15 รางวัล ได้รับเกียรติบัตรและเงินรางวัล จำนวน 10,000 บาท ดังนี้ จังหวัดกระบี่ โครงการศิลปะแห่งผืนผ้า : การสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล โดย นายวิทวัส ค้าของ โครงการสร้างภาพลักษณ์กระบี่เมืองศิลปะ : Landmark Krabi Art City โดย นายณรงค์ สัญจร โครงการศิลปะจากไม้ลอยเล โดย นางสาวชลดา กลันตัน โครงการกระบี่เมืองศิลป์ ถิ่น “จาด” งาม โดย นายจิตติพัฒน์ น่าเยี่ยม โครงการเทศกาล “ศิลปะ ขยะ ดนตรี” โดย นายวิชิต สกุลเวทย์
จังหวัดเชียงราย โครงการ 201 เฮือนบรรพบุรุษเชียงราย โดยนายรุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์ โครงการเทศกาลศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยอาข่านานาชาติ โดย มูลนิธิบาลา โครงการศิลปินเยือนเฮือน โปรแกรมศิลปินในพำนักเชียงราย แลกเปลี่ยน เรียนรู้สู่เมืองศิลปะโลก โดย นายเตชินทร์ โป่งจินา โครงการฟื้นฟูกาดหลวงเชียงรายด้วยความยินดี Re-Grad โดย ผศ.ดร.ศศิชา สุขกาย โครงการอิล-ลี-ลี้ อิลลัสเชียงราย แฟร์ (il-li-ly Illus Chiang Rai Fair) โดย นางสาวชรินรัตน์ สิงห์หันต์
จังหวัดนครราชสีมา โครงการแรงบันดาลใจจากภาษาโคราชสู่ออกแบบคาแรคเตอร์อาร์ตทอย เพื่อติดตั้งนำเที่ยวบนถนนจอมพล จังหวัดนครราชสีมา ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนฐานทุนวัฒนธรรม โดย ผศ.เกรียงไกร ดวงขจร โครงการปั้นดิน สร้างศิลป์ เมืองย่า โดยนายสุเทพ อ่อนกำปัง โครงการหอศิลป์ครูแดง และหอศิลป์ถิ่นธารปราสาท แหล่งเรียนรู้ศิลปะร่วมสมัย ชุมชนตำบลธารปราสาท โดย นายสุริชัย ศิริบูรณ์ โครงการเอกลักษณ์แมวโคราชกับพื้นที่ทางวัฒนธรรม ผ่านรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมใหม่แบบมีส่วนร่วม โดยผศ.พิฆเนศ อิศรมงคลรักษ์ โครงการอาร์ตทอยไทย ๆ : ตำนานเมืองโคราช โดย นางสาวศศิรดา พันธ์วิเศษศักดิ์
“โครงการเพื่อพัฒนาเมืองแห่งศิลปะ ปี 2568 จะเป็นการขับเคลื่อนงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยในพื้นที่ พัฒนาศักยภาพของบุคลากร นำคุณค่าทางวัฒนธรรมของแต่ละเมืองมาสร้างมูลค่าทางสังคมและเศรษฐกิจ และสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป” นายประสพ กล่าว