Low Carbon ถือเป็นแนวคิดที่มีความสำคัญ ในการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หากเราเลือกที่จะช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำในวงกว้างที่ไกลกว่าพรมแดนของประเทศ นั่นจะทำให้เกิดความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ที่ใช้ร่วมกันบนโลกใบนี้
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยสถาบันวิจัยระบบพลังงาน ร่วมกับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จัดทำโครงการ “เสริมศักยภาพศูนย์การเรียนรู้เพื่อพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน สำหรับสหกรณ์ผลิตยางแผ่นรมควัน จังหวัดสงขลา” ซึ่งถือเป็นต้นแบบงานวิจัยรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างสหกรณ์ยางเป็นกลางทางคาร์บอนแห่งแรกของไทย มุ่งหวังช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และตัวอย่างที่ดีในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน
ศาสตราจารย์ ดร.สุเมธ ไชยประพัทธ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบพลังงาน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า โจทย์แรกในการพัฒนาระบบผลิตและใช้งานก๊าซชีวภาพ และใช้ประโยชน์น้ำเสียอย่างครบวงจร คือการออกแบบที่ทำให้ดูแลรักษาระบบได้ง่ายที่สุดสำหรับเกษตรกร โดยใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ทั่วไป สามารถจัดหาได้ภายในท้องถิ่น และมีต้นทุนไม่สูง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถติดตั้งและใช้งานในพื้นที่ของตัวเองได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งเมื่อทีมวิจัยช่วยลดต้นทุนในการผลิตยางแผ่นรมควันลงได้แล้ว สิ่งที่ตามมาคือสหกรณ์ได้รับผลกำไรที่มากขึ้น ถือว่าคุ้มค่าในระยะยาวและยังส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้เริ่มโครงการที่สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านทรายขาว จังหวัดสงขลา เป็นศูนย์แรก ก่อนจะขยายผลความสำเร็จมาที่ สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านยูงทอง จังหวัดสงขลา กลายเป็นสหกรณ์ยางแผ่นรมควันที่ประสบความสำเร็จสูง จนทำให้ทีมวิจัยมุ่งมั่นที่จะผลักดันสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านยูงทอง ไปสู่สหกรณ์ผลิตยางรมควันที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนแห่งแรกของประเทศไทย
“โครงการนี้เน้นการเปลี่ยนน้ำเสียให้เป็นก๊าซชีวภาพ และการใช้ก๊าซชีวภาพไปรมควันยางแผ่น เพื่อช่วยประหยัดเชื้อเพลิงไม้ฟืน รวมทั้งการนำระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ มาใช้ในการผลิตยางแผ่น ซึ่งส่งผลให้สหกรณ์สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 425 ตัน/ปี หรือ 31% และการนำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้มาใช้แทนไม้ฟืนนั้น ยังช่วยลดการใช้ฟืนลงถึง 30% ทำให้สหกรณ์สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 130,000-180,000 บาท/ปี ส่งผลไปถึงคุณภาพของยางแผ่นรมควันที่ได้จากกระบวนการนี้ที่ทำให้ได้ยางแผ่นที่มีคุณภาพสูง มีสีเหลืองนวลใส ไม่ขุ่นมัว และจากการจัดทำให้เป็นยางแผ่นรมควันที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ยังอาจสามารถนำไปขายให้ได้ราคามากขึ้นอีกด้วย” ศาสตราจารย์ ดร.สุเมธ กล่าว
จากความทุ่มเทอย่างไม่หยุดนิ่งของทีมนักวิจัย และหน่วยงานภาคีทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมไปถึงเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่นับตั้งแต่เริ่มโครงการ กลายมาเป็นความสำเร็จทั้งในแง่ของผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรม และการแสดงให้เห็นถึงความตระหนักต่อสังคมโดยรวม ที่ไม่ว่าจะเป็นใคร อาชีพไหน ต่างก็มีความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงานของประเทศ และเป็นต้นแบบที่สามารถนำไปปฏิบัติในพื้นที่อื่นได้
เช่นเดียวกันกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ยังมุ่งมั่นพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม โดยเฉพาะเรื่องยางพารา เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์จริงที่เน้นการพัฒนานวัตกรรมและความยั่งยืน เช่น การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมยางที่สามารถคืนสภาพได้ ลดระยะเวลาในการเปลี่ยนยางในอุตสาหกรรมยานยนต์ การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมตลาดยางทางการแพทย์แบบซิลิโคนเกรดสูง หรือแม้แต่การพัฒนานวัตกรรมเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูง และมีความรุนแรงในการแข่งขันต่ำ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เราได้ช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต หรือในกิจกรรมต่าง ๆ หันมาใช้ทรัพยากรบนโลกใบนี้อย่างคุ้มค่า เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่ ‘สังคมคาร์บอนต่ำ’