นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรตั้งแต่ปี 2542 โดยยึดหลักการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและการท่องเที่ยวชุมชน ที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยในปี 2563 – 2567 มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้รับการพัฒนา จำนวน 343 แหล่ง สร้างเสริมประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชีวิตด้านการเกษตร ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมของชุมชน ช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ผ่านกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชน เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ครัวเรือนและชุมชนเกษตร สร้างรายได้เพิ่มร้อยละ 12 ต่อปี กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและชุมชนอย่างยั่งยืน
ในปี 2568 กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดนโยบายในการขับเคลื่อนงานเพื่อให้การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเกิดประสิทธิภาพ และมีแผนผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ที่เป็นเสมือนกุญแจดอกแรกที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพก่อให้เกิดรายได้กับเกษตรกร ชุมชน และท้องถิ่น โดยดำเนินการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพ ดังนี้ 1) พัฒนาบุคคลากรด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ทั้งเจ้าหน้าที่ และวิสาหกิจชุมชน ให้มีความรู้ความเข้าใจด้านการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว เชิงเกษตรให้มีมาตรฐานความปลอดภัย มีความสะอาด ถูกสุขอนามัย มีการให้บริการที่ดี และสมาชิกวิสาหกิจชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยว เชิงเกษตรและชุมชน เชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยว เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จำหน่ายสินค้าแก่นักท่องเที่ยว และเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน 2) จัดเก็บข้อมูลและใช้ประโยชน์จากข้อมูลด้านการท่องเที่ยว โดยส่งเสริมให้แหล่งวิสาหกิจชุมชนจัดเก็บข้อมูลและใช้ประโยชน์จากข้อมูล ได้แก่ สถิตินักท่องเที่ยว รายได้ ข้อเสนอแนะของนักท่องเที่ยว เพื่อนำมาวิเคราะห์และวางแผน ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร 3) ยกระดับแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้ได้มาตรฐาน โดยส่งเสริมให้แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรเข้าสู่กระบวนการประเมินมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของกรมการท่องเที่ยว เพื่อยกระดับแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้ได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัย เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยว ส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันไปสู่ธุรกิจท่องเที่ยว 4) ส่งเสริมการตลาดแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ได้แก่ การใช้ตราสัญลักษณ์ A (Agrotourism) การประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลและเชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ และ 5) ส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยยึดหลักการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับการพัฒนาบุคลากร เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานท่องเที่ยวเชิงเกษตรระดับเขต ระดับจังหวัด และเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง กรมส่งเสริมการเกษตรได้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ให้สอดรับกับการขยายตัวด้านการท่องเที่ยว โดยพัฒนาศักยภาพเพิ่มทักษะ และเทคนิค ในการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนด้านท่องเที่ยวเชิงเกษตร ตลอดจนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้มีการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้เกิดความยั่งยืน ผ่านการสัมมนาพัฒนาศักยภาพทักษะการเป็นพี่เลี้ยงเพื่อการจัดการด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Training of Trainer) ซึ่งจัดให้มีการบรรยายให้ความรู้และฝึกปฏิบัติในด้านต่าง ๆ ดังนี้ 1) แนวทางการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและการเชื่อมโยง Route Trip 2) แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง BCG Model 3) การพัฒนาทักษะการสื่อสารและการถ่ายทอดความรู้ด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตร 4) การพัฒนา Growth Mindset ของผู้พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน และ 5) การวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคด้วย Digital Marketing