ฝนหลวงฯ มุ่งมั่นทำงานเพื่อนำคุณอากาศที่ดีกลับสู่ประชาชน   

วันที่ 23 มกราคม 2568 นายราเชน ศิลปะรายะ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้นับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ในเช้าวันนี้ (23 มกราคม 2568) ค่าคุณภาพอากาศ AQI อยู่ที่ 169 นับได้ว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งปัญหานี้ทางรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากจึงได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันคลี่คลายสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้ให้เบาบางลงให้ได้นั้น สำหรับกรมฝนหลวงฯ ได้เริ่มการปฏิบัติการสลายฝุ่นนี้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยใช้เทคนิคระบายฝุ่นก่อนเคลื่อนที่เข้าสู่พื้นที่เป้าหมาย และระบายฝุ่นออกจากพื้นที่เป้าหมาย ด้วยเทคนิคการลดอุณหภูมิชั้นบรรยากาศอุณหภูมิผกผันด้วยการสเปรย์น้ำปรับลดอุณหภูมิและการโปรยน้ำแข็งแห้งเพื่อระบายฝุ่นละอองให้ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้น และเทคนิคก่อเมฆ หรือเลี้ยงเมฆให้อ้วนด้วยการนำศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทานในขั้นตอนที่ 1 และขั้นตอนที่ 2 มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เมฆมีความหนาแน่นมากยิ่งขึ้น ในการดูดซับและระบายฝุ่นละอองออกจากพื้นที่เป้าหมาย ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมถึงพื้นที่ทางภาคเหนือ

ซึ่งจากการปฏิบัติการในช่วงที่ผ่านมานั้น กรมฝนหลวงฯ ได้เก็บสถิติต่าง ๆ ทำการเปรียบเทียบในแต่ละช่วงเวลา (ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคเหนือตอนบน) โดยในช่วงวันที่ 30 ธันวาคม 2567 ถึง 5 มกราคม 2568 ความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM2.5 ค่าดัชนีคุณภาพทางอากาศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่พอมาในช่วงวันที่ 6 – 12 มกราคม 2568 มีแนวโน้มลดลงทั้งความเข้มข้นและค่าดัชนีคุณภาพทางอากาศ

และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 13 – 19 มกราคม 2568 พบว่าค่าความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM2.5 มีแนวโน้มลดลงทั้ง 2 พื้นที่ ส่วนค่าดัชนีคุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีแนวโน้มลดลง แต่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจากสถิติเหล่านี้ทำให้เห็นว่าการปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศนั้น มีส่วนช่วยให้การระบายฝุ่นออกจากพื้นที่เป้าหมายได้ในระยะหนึ่ง แต่ปริมาณฝุ่นที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีปัจจัยอื่นเข้ามาประกอบ เช่น การเผาไหม้จากท่อไอเสียรถยนต์ การทำงานในพื้นที่ก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม การเผาเพื่อหาของป่าบนเขา การเผาในพื้นที่การเกษตร ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียง ประกอบกับลมตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้พัดพาฝุ่นละอองเหล่านี้เข้ามาสู่ประเทศไทย และโดยเฉพาะในช่วงเวลาของฤดูหนาว ที่สภาวะอากาศบนชั้นบรรยากาศตั้งแต่ผิวพื้นถึง 10,000 ฟุต ได้มีชั้นบรรยากาศอุณหภูมิผกผัน คอยปิดไม่ให้ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้นได้

นอกจากนี้ นายราเชน ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้เทคนิคลดอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศอุณหภูมิผกผันเพื่อดูดซับและระบายฝุ่นละออง โดยใช้การโปรยน้ำแข็งแห้งหรือการสเปรย์น้ำปรับลดอุณหภูมิ เป็นเสมือนการเจาะช่องของชั้นบรรยากาศอุณหภูมิผกผัน ในการระบายฝุ่นเพื่อให้ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้นได้อย่างสะดวก อย่างไรก็ตามกรมฝนหลวงฯ จะขอมุ่งมั่นการทำงานในจุดนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการนำคุณภาพอากาศที่ดีกลับมาสู่ลมหายใจของพี่น้องประชาชนให้จงได้ และขอร่วมรณรงค์ลดการใช้ยานพาหนะที่เกินความจำเป็น ลดการเผาทุกชนิด ช่วยกันปลูกต้นไม้ให้หนาแน่นขึ้นไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่บริเวณบ้าน หรือพื้นที่ป่า เพื่อในวันข้างหน้าจะได้เป็นอีกสิ่งหนึ่งในการช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเพิ่มออกซิเจนในอากาศให้กับเรา และในช่วงนี้ขอแนะนำให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกอาคาร และติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศจากหน่วยงานของรัฐอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ทั้งนี้ทุกท่านยังสามารถติดตามข่าวสารการปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้เป็นประจำได้ที่เว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร, เพจเฟซบุ๊ก, อินสตราแกรม, ทวิตเตอร์ (X), ไลน์ออฟฟิเชียล, ติกต่อก หรือโทรติดต่อสอบถาม 02-109-5100 ต่อ 410 ได้ทุกวันในเวลาราชการ