นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 – 22 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับ Mr. Gamini Wijesuriya ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์นานาชาติเพื่อการศึกษาการสงวนรักษาและการบูรณะมรดกทางวัฒนธรรม (ICCROM) และ Mr. Michael Pearson ผู้เชี่ยวชาญจากสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) ซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อสำรวจพื้นที่จริงและรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับรายงานการประเมินผลกระทบทางทรัพย์สินและวัฒนธรรมต่อแหล่งมรดกโลก นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (HIA) กรณีโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงสถานีอยุธยา โดยมีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย
ผู้แทนองค์กรที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลก ได้ลงพื้นที่บริเวณแหล่งพื้นที่มรดกโลกทางวัฒนธรรม อาทิ แยกตะแลงแกง วัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุ รวมถึงพื้นที่โบราณสถานที่อยู่ใกล้เคียงพื้นที่โครงการ อาทิ สถานีรถไฟอยุธยา วัดหลวงพ่อคอหัก และพื้นที่โบราณสถานบริเวณรอบเกาะเมืองอยุธยา อาทิ วัดพนัญเชิง หมู่บ้านญี่ปุ่น วัดใหญ่ชัยมงคล นอกจากนี้ ยังลงพื้นที่สถานีบ้านม้า สถานีรถไฟบ้านโพ สถานีรถไฟบางปะอิน เพื่อนำข้อมูลต่างๆ ทั้งด้านทัศนียภาพ การพัฒนาเมือง การท่องเที่ยว รวมถึงการจราจร ไปสังเคราะห์ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกต่อไป
“ผู้แทนองค์กรที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลก มีข้อสรุปให้การรถไฟฯ ปรับลดความสูงของหลังคาสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ไม่ให้โครงสร้างหลังคาซ้อนทับกับสถานีรถไฟอยุธยาเดิม พร้อมทั้งให้อนุรักษ์และคงคุณค่าของสถานีรถไฟอยุธยาเดิมไว้ ซึ่งหลังจากนี้ UNESCO จะจัดส่งรายงานกลับมาอีกครั้งภายในเดือนมีนาคม โดยการรถไฟฯ จะนำข้อเสนอแนะเหล่านี้มาจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก หรือ Heritage Impact Assessment (HIA) ตามคำแนะนำของ UNESCO เพื่อรักษาคุณค่าอันเป็นสากลของนครประวัติศาสตร์อยุธยาให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เหมาะสมกับแหล่งมรดกโลกต่อไป ทั้งนี้ หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะรายงานต่อคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม และคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกทราบ เพื่อนำส่งรายงานให้ศูนย์มรดกโลก (World heritage Centre) ต่อไป” ผู้ว่าการรถไฟ กล่าว
ปัจจุบัน มีการเว้นช่วงบริเวณสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ในสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ – พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 10,325.90 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติให้การรถไฟฯ ดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงภูมิภาค เพื่อรอผลการศึกษาจากรายงานการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก (HIA) ทั้งนี้ เพื่อลดผลกระทบด้านทัศนียภาพของโบราณสถานมรดกโลก อาทิ การปรับลดความสูงของสถานีจากเดิม 37.45 เมตร ให้เหลือ 35.45 เมตร และปรับลดความสูงของสันรางจาก 19 เมตร เหลือ 17 เมตร อย่างไรก็ตาม แนวเส้นทางช่วงบริเวณสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา มีการก่อสร้างบนเขตทางรถไฟ ซึ่งไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่มรดกโลก แต่อยู่ห่างออกไป 1.5 กิโลเมตร และมีแม่น้ำป่าสักคั่นอยู่เป็นบับเบิลโซน
การรถไฟฯ จะดำเนินการอนุรักษ์สถานีอยุธยาเดิม ให้เป็นสถานที่อันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ควบคู่กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญตามมาตรฐานสากล
ให้สมกับการที่ได้รับยกย่องให้เป็นแหล่งมรดกโลก