วธ. ร่วมกับวัดมังกรกมลาวาส ชูอัตลักษณ์วัฒนธรรม สานสัมพันธ์ไทย – จีน จัดพิธีสมโภชพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) เนื่องในเทศกาลตรุษจีน

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า รัฐบาล โดยสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงวัฒนธรรม และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับภาคคณะสงฆ์ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และในวาระครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งกรมการศาสนาได้รับมอบหมายให้จัดพิธีสมโภชพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) เนื่องในเทศกาลตรุษจีนโดยร่วมกับวัดมังกรกมลาวาส จัดกิจกรรม ระหว่างวันที่ 29 – 30 มกราคม 2568 โดยวันที่ 29 มกราคม 2568 เวลา 16.00 น. จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์แบบจีน โดยมีพระคณาจารย์จีนวัชรธรรมาจารย์ ผู้ช่วยเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายซ้ายจีนนิกายวัดโพธิทัตตาราม จังหวัดชลบุรี เป็นประธานพิธีฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยคณะสงฆ์จีนนิกาย วัดมังกรกมลาวาส ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสมโภชพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ประกอบด้วยการแสดงทางวัฒนธรรมจีน ได้แก่ เชิดสิงโต 9 สี 9 มงคล ประกอบด้วยเชิดสิงโตอวยพร สิงโตต่อตัวกายกรรม สิงโตมอบส้มมงคล สิงโตปล่อยป้ายอวยพร เชิดมังกรทอง มังกรทองภาคพื้น มังกรลอยฟ้า มังกรเล่นท่าลีลาสวยงาม มังกรภาคพื้นไหว้สี่ทิศ มังกรต่อตัวปล่อยป้ายอวยพร การแสดงทางวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ไทย – จีน ชุดถวายพุทธบูชาศรัทธาพระเขี้ยวแก้ว และร่ายหลงหงส์ลอดลายจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และวันที่ 30 มกราคม 2568 เวลา 1๘.๓๐ น. มีการแสดงทางวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ไทย – จีน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลการศึกษาเรื่อง “ตรุษจีนในสังคมไทย” ของสถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย พบว่า คนไทยรับประเพณีวัฒนธรรมจีนเข้ามาในสังคมไทยมาเป็นเวลานานแล้ว ผสมกลมกลืนจนคนไทยไม่รู้สึกว่าประเพณีจีนเป็นสิ่งแปลกในวิถีชีวิต แต่ไม่สามารถจะระบุได้แน่ชัดว่าวัฒนธรรมจีนมีอิทธิพลในสังคมไทยตั้งแต่เมื่อใด คนไทยเชื้อสายจีนยังคงดำรงรักษาวิถีการดำเนินชีวิตตามวัฒนธรรมจีน และการประกอบพิธีกรรมตามธรรมเนียมประเพณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลตรุษจีน ที่เป็นเทศกาลหลักของคนจีน ร่วมกับเทศกาลไหว้พระจันทร์ เทศกาลสารทจีน เทศกาลเช็งเม้ง หรือกระทั่งเทศกาลถือศีลกินเจ ซึ่งคนไทยในปัจจุบันคุ้นเคยกับเทศกาลต่าง ๆ เหล่านี้เป็นอย่างดี เป็นการฉลองวันขึ้นปีใหม่ตามธรรมเนียมจีน ซึ่งถือเป็นเทศกาลที่มีความสำคัญมากในวัฒนธรรมจีน โดยเฉลิมฉลองด้วยหลักการพื้นฐานในเรื่องความกตัญญูกตเวที ความยึดถือในวงศ์สกุลและบรรพบุรุษของตระกูล โดยมีความเชื่อว่าถ้าปฏิบัติธรรมเนียมได้อย่างถูกต้องตามประเพณีจะเกิดความเจริญมั่งคั่ง ความสันติสุข และความไพบูลย์วงศ์ตระกูล ตลอดจนความรุ่งเรืองของกิจการการค้าต่างๆ และความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของสมาชิกในครอบครัว ซึ่งคติความเชื่อต่างๆ ในเทศกาลตรุษจีนมีความคล้ายคลึงกับเทศกาลสงกรานต์ของคนไทยที่ถือเป็นการฉลองวันขึ้นปีใหม่และการแสดงออกในความเคารพนับถือต่อบรรพบุรุษและความยืดถือในความเป็นครอบครัว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “ตรุษจีน” ถือเป็นเทศกาลและประเพณีสำคัญของคนไทยเชื้อสายจีนที่ยึดถือกันมาช้านาน ซึ่งแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ ความสามัคคีปรองดองของครอบครัว เครือญาติ และเจริญรุ่งเรืองของวงศ์ตระกูล กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม รับนโยบายของรัฐบาล ในการนำหลักธรรมและมิติทางศาสนา วัฒนธรรม มาพัฒนาคนให้มีศีลธรรม ค่านิยมที่ดีงาม เพื่อเป็นพลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรม รวมทั้งร่วมรักษาสิ่งเดิม “เชิดชูเทศกาลตรุษจีน” ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า” รวมทั้งเพิ่มเติมสิ่งใหม่ “ส่งเสริมอาชีพ กระจายรายได้ในช่วงเทศกาลตรุษจีนเพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงวัฒนธรรมที่ต้องการผลักดันทุนทางวัฒนธรรมสู่การเป็นทุนทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน.