คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ เห็นชอบแผนปฏิบัติการ ด้านการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ พ.ศ. 2566 – 2570 พร้อมประกาศใช้

นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า วันนี้ (พุธที่ 22 มกราคม 2568) เวลา 10.00 น. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน จัดการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2568 โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน พร้อมด้วยนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้บริหารกรมกิจการเด็กและเยาวชน คณะกรรมการ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ฯ เพื่อพิจารณาการขับเคลื่อนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากการถูกทำร้ายและถูกล่วงละเมิดทางเพศ แนวทางการดำเนินงานเพื่อการคุ้มครองเด็กของสถานรองรับเด็กเอกชน และการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขบุหรี่ไฟฟ้าในเด็ก ณ ห้องประชุมวังสะพานขาว ชั้น 18 บี อาคารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

จากการประชุม ฯ ดังกล่าว คณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบพร้อมมีผลประกาศใช้ในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1) เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ พ.ศ. 2566 – 2570 โดยมอบหมายให้คณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด คณะกรรมการคุ้มครองเด็กกรุงเทพมหานคร และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ พ.ศ. 2566 – 2570 ร่วมกับแผนปฏิบัติราชการประจำปีของหน่วยงาน

2) การขับเคลื่อนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากการถูกทำร้ายและถูกล่วงละเมิดทางเพศ ตามที่กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ลงนามร่วมกันในบันทึกข้อตกลงฯ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ทั้งทางด้านสังคมและกฎหมาย รวมทั้งปกป้องคุ้มครองให้ปลอดภัยจากการถูกทำร้ายและถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยให้มีคณะทำงานระหว่างกระทรวง เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกในการประสานความร่วมมือและกำกับติดตามการขับเคลื่อนบันทึกข้อตกลงฯ และการจัดทำแผนปฏิบัติการ ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2568 – 2570)

3) การดำเนินงานเพื่อพัฒนาการคุ้มครองเด็กของสถานรองรับเด็กเอกชน คณะกรรมการฯ เห็นชอบแนวทางการดำเนินงาน เพื่อให้สถานรองรับเด็กเอกชนทั้งที่ได้รับอนุญาตและไม่ได้รับอนุญาตทั่วประเทศ จำนวน 348 แห่ง สามารถดูแลเด็กได้ตามมาตรฐานสถานรองรับเด็กเอกชน

4) การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขบุหรี่ไฟฟ้าในเด็ก คณะกรรมการฯ ได้เห็นถึงความสำคัญของสถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยให้คณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด และคณะกรรมการคุ้มครองเด็กกรุงเทพมหานคร “คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก” ผ่านการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546

นางอภิญญา ย้ำว่า การขับเคลื่อนการดำเนินงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่าย และสภาเด็กและเยาวชน โดยเห็นถึงความสำคัญของการคุ้มครองเด็กทุกคน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ให้ใช้กลไกคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดและคณะกรรมการคุ้มครองเด็กกรุงเทพมหานคร ในการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก