“กรมทางหลวง” เสริมศักยภาพ เส้นทางอีสาน! ขยาย 4 ช่องจราจร หมายเลข 202 อ.สุวรรณภูมิ – ยโสธร ระยะทางรวม 26.177 กิโลเมตร แล้วเสร็จ ยกระดับคมนาคมขนส่ง สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า กรมทางหลวง (ทล.) มุ่งมั่นพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยสำนักก่อสร้างทางที่ 2 ได้ดำเนินการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 202 สาย อ.สุวรรณภูมิ – ยโสธร ระหว่าง กม.232+688 – กม.258+865 ระยะทางรวม 26.177 กิโลเมตร เสร็จสมบูรณ์ และเปิดให้ประชาชนสัญจรเรียบร้อยแล้ว

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงหมายเลข 202 สายชัยภูมิ – เขมราฐ ซึ่งเป็นทางหลวงสายสำคัญอีกเส้นทางหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีระยะทางตลอดทั้งสายกว่า 392 กิโลเมตร เชื่อมต่อจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ซึ่งถือเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งสินค้าและการเดินทางของประชาชน อีกทั้งได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และยังมีพื้นที่ติดกับ สปป.ลาว และประเทศกัมพูชา ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคอินโดจีน ด้วยความสำคัญนี้ กรมทางหลวงจึงได้เสนอของบประมาณเพื่อพัฒนาโครงข่ายระบบโลจิสติกส์ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และได้ดำเนินการก่อสร้างช่วงพื้นที่ อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด – อ.เมือง จ.ยโสธร ระหว่าง กม. ที่ 232+688 – กม. ที่ 258+865 ระยะทางรวม 26.177 กิโลเมตร โดยยกระดับเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษจากเดิมขนาด 2 ช่องจราจร เป็นขนาด 4 ช่องจราจร (ไป – กลับ) ผิวจราจรแอสฟัลท์คอนกรีตและคอนกรีต แบ่งทิศทางการจราจรแบบเกาะยกในบริเวณย่านชุมชน และแบบกำแพงคอนกรีต พร้อมติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างและไฟกระพริบบนทางหลวงตลอดเส้นทาง เพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัยสูงสุดแก่ผู้ใช้ทาง วงเงินงบประมาณ 1,108,990,000 บาท

ปัจจุบันกรมทางหลวงได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ การพัฒนาทางหลวงหมายเลข 202 นี้ มุ่งมั่นให้เกิดประโยชน์มากมายต่อประชาชนและประเทศชาติ โดยโครงการฯ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายคมนาคมขนส่ง เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างจังหวัดร้อยเอ็ดและยโสธร เข้ากับทางหลวงหมายเลข 23 สายบ้านไผ่ – อุบลราชธานี และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยการอำนวยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทาง ลดระยะเวลาในการเดินทาง อีกทั้งยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการเกษตร พร้อมรองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มสูงขึ้นและการเติบโตของชุมชนในอนาคต และเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก ทั้งหมดนี้เป็นการดำเนินการควบคู่ไปกับการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน