นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กระทรวงวัฒนธรรมมีกรอบแนวคิดขับเคลื่อนงาน คือ “4 – 3 – 2 – 1” หรือ “4 นโยบาย – 3 แนวทาง – 2 รูปแบบ – 1 เป้าหมาย” โดยกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับวัดบำเพ็ญเหนือ จัดงานโครงการเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน สอดรับนโยบาย การส่งเสริม สร้างสรรค์ ผลักดันทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นทุนทางเศรษฐกิจ และนโยบายการพัฒนาและผลักดันสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมให้มีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นในตลาดโลก ให้การขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างสังคมเข้มแข็งและสนับสนุนเศรษฐกิจวัฒนธรรมให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยเน้นการปฏิบัติใน ตามแนวทาง ความยั่งยืน โดยคำนึงถึงความยั่งยืนใน 3 มิติ คือ ประโยชน์ ที่ยั่งยืนแก่ประเทศชาติและประชาชน การบริหารจัดการที่ยั่งยืน และคุณค่าของวัฒนธรรมที่ยั่งยืน โดยเน้น 2 รูปแบบ ในการรักษาสิ่งเดิมและการเพิ่มเติมสิ่งใหม่ โดยการใช้ทรัพยากรและทุนทางวัฒนธรรมของกระทรวงวัฒนธรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุด การพัฒนาสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมตามความต้องการของตลาด สร้างความโดดเด่นและยกระดับคุณค่าและมูลค่าของสินค้าและบริการด้วยอัตลักษณ์วัฒนธรรม และพัฒนาสู่สินค้าและบริการใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพในตลาดโลก โดยมี เป้าหมาย ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านวัฒนธรรม โดยผลักดันให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 25 ประเทศที่มีอิทธิพลด้าน Soft Power ในมิติวัฒนธรรม ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในชุมชน และเป็นการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น กระตุ้นให้เกิดทุนทางวัฒนธรรม (Soft Power) รวมทั้งเป็นการขยายโอกาส ให้พุทธศาสนิกชนได้ทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล และเจริญภาวนา นอกเหนือจากวันธรรมสวนะและในโอกาสต่างๆ
โดยวันเสาร์ที่ 25 มกราคม 2568 เวลา 07.30 น. กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม จัดกิจกรรมเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ “ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน” ณ วัดบำเพ็ญเหนือ เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร มีกิจกรรมประกอบด้วย การตักบาตรพระสงฆ์ทางเรือ ณ บริเวณท่าน้ำ วัดบำเพ็ญเหนือ เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร การเยี่ยมชม อุดหนุนผลิตภัณฑ์ชุมชน ชมการแสดงโปงลาง จากนักเรียนโรงเรียนวัดบำเพ็ญเหนือ ณ ตลาดน้ำขวัญ – เรียม เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร และเยี่ยมชมการสาธิตผลิตภัณฑ์ของดีชุมชน ณ วัดบำเพ็ญเหนือ การมอบถุงยังชีพให้กับผู้ขาดแคลนในชุมชนใกล้เคียง จำนวน 100 ชุด และกิจกรรมปล่อยพันธุ์ปลา ณ บริเวณท่าน้ำ วัดบำเพ็ญเหนือ ร่วมกับคนในชุมชนและบริเวณใกล้เคียง โดยตลาดน้ำขวัญ – เรียม มีแนวคิดจากนิยายเรื่องแผลเก่า ของไม้ เมืองเดิม เหตุเพราะตัวละครในเรื่องคือ ไอ้ขวัญและอีเรียม ซึ่งอยู่บริเวณทุ่งบางกะปิ นำมาเป็นจุดขายในการสร้างเป็นตลาดน้ำขวัญ – เรียม ที่เป็นตลาดน้ำในคลองแสนแสบระหว่าง 2 วัด คือ วัดบำเพ็ญเหนือและวัดบางเพ็งใต้ เปิดวันเสาร์ อาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์ เวลา 07.00 – 18.00 น. โดยในช่วงเช้าเวลา 07.30 น. จะมีการตักบาตรทางเรือ ซึ่งจะมีพระ – เณรพายเรือมารับบาตรจากญาติโยมที่ไปใส่บาตร ระหว่างสองวัดมีสะพานเชื่อมกันอยู่สองสะพาน ทางฝั่งวัดบำเพ็ญเหนือ บริเวณพื้นที่ริมน้ำทำเป็นลานหญ้าเทียม มีการก่อสร้างอาคารสูง 2 ชั้น ขนานไปกับริมคลอง ชั้นล่างขายอาหารและรับประทานอาหาร ชั้นบนเป็นทางเชื่อมต่อไปยังอีกฝั่งคลอง เป็นร้านขายของ เช่นเสื้อผ้า แว่นตา กระเป๋า ริมคลองมีของขายมากมายทั้งของกินของใช้ของที่ระลึก ส่วนในลำคลองแสนแสบมีเรือหลายขนาดมาจอดขายอาหาร เช่น กาแฟ ขนม และเครื่องดื่มให้นั่งกินนั่งดื่มในเรือหรือแพ ส่วนทางฝั่งวัดบางเพ็งใต้ เป็นตลาดเก่าแบบตลาดร้อยปี มีร้านกาแฟ ร้านถ่ายรูปโบราณ และมีบริเวณที่มุงหลังคาขายอาหาร ขายของแบบตลาดนัดอยู่ด้วยอีกหนึ่งบริเวณ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดกิจกรรมเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ “ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน” กรมการศาสนา ดำเนินงานต่อยอดและขยายผลจากปีที่ผ่านมา โดยร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด คัดเลือกสถานที่ที่มีประเพณีโดดเด่น มีวัดอยู่ใกล้ชุมชน มีการให้บริการจัดของตักบาตรให้กับนักท่องเที่ยว การบริการเช่าชุดพื้นถิ่น การจัดพื้นที่แสดงสินค้าสำหรับชุมชน ก่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชนและส่งผลให้มีการพัฒนาต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในเมืองหลักและเมืองรอง เพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 10 แห่ง ได้แก่ 1. ตักบาตรสะพานมอญ จังหวัดกาญจนบุรี 2. นุ่งซิ่น นั่งสาด ตักบาตร 9 วัด จังหวัดกาฬสินธุ์ 3. ตักบาตรวัดไทยสามัคคี จังหวัดตาก 4. ทำบุญตักบาตร ยลวิถีลาวเวียง จังหวัดนครนายก 5. ชิมหนม ชมหลาด ตักบาตร หลาดลองแล จังหวัดพังงา 6. ตักบาตรทางน้ำ ริมคลองข้าวตอก จังหวัดพิจิตร 7. ตักบาตรพระทางน้ำวัดธาราวดี (บางจาก) จังหวัดนครศรีธรรมราช 8. ปราจีนบุรีรวมใจ ตักบาตร เติมบุญ สร้างกุศลวิถีไทย จังหวัดปราจีนบุรี 9. ถนนบิณฑบาต ตามรอยหลวงปู่มั่น จังหวัดสกลนคร 10. ตักบาตรวัดปานประสิทธาราม จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อกระตุ้นเตือนให้พุทธศาสนิกชนยึดมั่นในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา น้อมนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในชีวิต รวมทั้งเป็นการขยายโอกาสให้พุทธศาสนิกชนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้ทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล และเจริญภาวนา นอกเหนือจากวันธรรมสวนะและในโอกาสต่างๆ รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในมิติศาสนา ทำให้เกิดกระแสการหมุนเวียนของเม็ดเงิน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับชุมชน ทำให้เกิดรายได้ให้กับชุมชนรอบศาสนาสถาน