นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่า จากกรณีที่หน่วยงานไต่สวนการทุ่มตลาดของออสเตรเลีย ประกาศเปิดไต่สวนการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping: AD) กับสินค้าสับปะรดตัดแต่งสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร (ขนาดมากกว่า 1 ลิตร) เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 และล่าสุด เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 หน่วยงานไต่สวนของออสเตรเลียได้ประกาศผลการไต่สวนการใช้มาตรการ โดยให้ยุติการไต่สวนและไม่ใช้มาตรการ AD หลังพบว่าการนำเข้าสินค้าดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้ผลิตออสเตรเลีย หากแต่เกิดจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น การนำเข้าจากประเทศอื่น การกระจายสินค้าของคู่แข่งของผู้ผลิตออสเตรเลียที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น การประกาศไม่ใช้มาตรการ AD กับสินค้าไทยจึงนับว่าเป็นผลดีต่อผู้ส่งออกสินค้าสับปะรดที่จะทำให้ผู้นำเข้าในออสเตรเลียสั่งสินค้าจากไทยตามเดิม โดยไม่ต้องจ่ายอากร AD เป็นสัญญาณที่ดีต่อบรรยากาศและความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองประเทศ
ทั้งนี้ ในช่วงกรกฎาคม 2565 – มิถุนายน 2567 (ช่วงระยะเวลาการไต่สวน) ออสเตรเลียนำเข้าสับปะรดตัดแต่งสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร (ขนาดมากกว่า 1 ลิตร) จากไทยจำนวน 8.57 ล้านลิตร ซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากมูลค่าการนำเข้ารวมของออสเตรเลียประมาณ 15.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสัปปะรดไทยครองส่วนแบ่งการนำเข้าอันดับหนึ่งถึงร้อยละ 59 และรองลงมาคืออินโดนีเซียร้อยละ 33
ที่ผ่านมาไทยเคยถูกออสเตรเลียเรียกเก็บอากร AD จากสินค้าสับปะรดและประกาศยุติการใช้มาตรการกับไทยเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2564 โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ สินค้าสับปะรดตัดแต่งสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร (ขนาดมากกว่า 1 ลิตร) และสับปะรดกระป๋องสำหรับผู้บริโภค (ขนาดไม่เกิน 1 ลิตร) และได้เปิดไต่สวนการใช้มาตรการ AD กับสินค้าสับปะรดตัดแต่งสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร (ขนาดมากกว่า 1 ลิตร) อีกครั้งเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566
กรมการค้าต่างประเทศได้ทำหน้าที่แจ้งความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด พร้อมให้คำแนะนำและประสานงานผู้ส่งออกไทย ในการเข้าร่วมกระบวนการไต่สวนของหน่วยงานออสเตรเลียเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ส่งออกไทย อย่างไรก็ดี หลังจากนี้ขอให้ผู้ส่งออกไทยพึงระวังในการกำหนดราคาส่งออก เนื่องจากหากส่งออกด้วยราคาทุ่มตลาด ผู้ผลิตออสเตรเลียอาจยื่นคำร้องเพื่อใช้มาตรการตอบโต้อีกครั้งได้และขอให้ใช้โอกาสนี้เพิ่มส่วนแบ่งตลาดในออสเตรเลียด้วยการส่งออกในราคาที่เป็นธรรม นางอารดา กล่าวทิ้งท้าย
กรมการค้าต่างประเทศยินดีให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการทางการค้า สำหรับผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองปกป้องและ ตอบโต้ทางการค้า ชั้น 15 กรมการค้าต่างประเทศ โทร 02 547 5083 และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://thaitr.dft.go.th