สทนช. ลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี เปิดเวทีให้ข้อมูลโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม สปป.ลาว เป็นครั้งที่ 3 สะท้อนข้อห่วงกังวลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน ป้องกันผลกระทบข้ามพรมแดนต่อจังหวัดริมแม่น้ำโขง เตรียมรวบรวมจัดทำความเห็นของไทยอย่างเป็นทางการ เสนอต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง
วันที่ 21 มกราคม 2568 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานเปิดเวทีให้ข้อมูลโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม สปป.ลาว ครั้งที่ 3 โดยมี ว่าที่ร้อยตรีกรกฎ ประเสริฐวงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวต้อนรับ และนายสีวันนะกอน ทะลิวัน รองเลขาธิการสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติลาว ผู้แทนสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง พร้อมด้วย หน่วยงานราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอำนาจเจริญ เข้าร่วม ณ โรงแรมสุนีย์ แกรนด์ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live ของ สทนช.
เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า สทนช. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (TNMCS) ทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานภายใต้กรอบความร่วมมือคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (TNMC-IS) ให้ดำเนินการจัดเวทีให้ข้อมูลโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม สปป.ลาว จำนวน 4 ครั้ง ในช่วงเดือนธันวาคม 2567 – เดือนกุมภาพันธ์ 2568 โดยมีผู้แทนสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และที่ปรึกษาระดับประเทศ เป็นผู้ให้ข้อมูล เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ทั้งข้อคิดเห็นและข้อห่วงกังวลต่อผลกระทบสะสมในการก่อสร้างเขื่อนทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยการจัดเวทีในครั้งนี้ ณ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นครั้งที่ 3 โดยครั้งแรกจัดขึ้นที่จังหวัดเลย เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 ครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 และครั้งสุดท้าย จะจัดขึ้นที่จังหวัดบึงกาฬ ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568
“สำหรับ 2 เวทีที่ผ่านมา ประชาชนมีข้อห่วงกังวลในหลายประเด็น ทั้งด้านอุทกวิทยา เช่น การเกิดอุทกภัยฉับพลัน ความมั่นคงของโครงสร้างของเขื่อน การขึ้นลงของน้ำที่ผิดปกติไม่ถูกต้องตามฤดูกาล การกัดเซาะและการพังทะลายของตลิ่ง ด้านการประมงและระบบนิเวศ เช่น ความสมบูรณ์ของทั้งชนิดและพันธุ์ปลาจะลดลงส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตของปลาแม่น้ำโขง พื้นที่ชุ่มน้ำ/บุ่งทามลดลง ต้นไคร้-สาหร่ายไกตาย ด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น การสูญเสียรายได้จากอาชีพประมงและเกษตรริมฝั่ง การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เป็นต้น” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดเวทีให้ข้อมูลโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคามมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นเวทีที่ประชาชนสามารถซักถามและแสดงความเห็นเกี่ยวกับโครงการได้ในทุกมิติ ทั้งนี้ ความวิตกกังวลต่อผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงเป็นที่รับรู้กันทั่วไป ตั้งแต่ระดับนานาชาติจนถึงระดับชุมชนในพื้นที่ สิ่งที่ สทนช. ดำเนินการมาโดยตลอดในเรื่องโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม คือ การทำให้มีผลการศึกษาอย่างเป็นทางการให้ได้ว่า โครงการดังกล่าว มีแนวโน้มว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้างต่อประเทศไทย เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ และภาคประชาชน ได้ช่วยกันพิจารณาให้ความเห็นต่อโครงการ และ สทนช. จะนำไปจัดทำความเห็นของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย และแจ้งประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 หรือ MRC 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม และไทย โดยแจ้งเป็นเอกสารตอบกลับ หรือที่เรียกว่า Reply Form ตามขั้นตอนที่ได้ตกลงร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก
การดำเนินงานในแม่น้ำโขง เป็นการดำเนินงานระหว่างประเทศสมาชิก MRC 4 ประเทศ เพื่อให้ความร่วมมือในด้านต่างประเทศมีความเรียบร้อย ประเทศสมาชิกได้มีการตกลงกันว่าจะทำงานร่วมกันอย่างไรในเรื่องต่างๆ เป็นหลักการไว้แล้ว ภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน และกระบวนการปฏิบัติต่างๆ โดยแต่ละประเทศมีหน้าที่ที่จะดำเนินการตามข้อตกลงนั้น สำหรับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม เป็นโครงการเขื่อนในแม่น้ำโขง ประเทศสมาชิกมีข้อตกลงกันว่า ก่อนจะก่อสร้าง ต้องนำรายละเอียดมาหารือกันก่อน เพื่อให้แต่ละประเทศให้ความเห็นต่อโครงการ และในการให้ความเห็นนั้น จะต้องส่งความเห็นผ่านแบบตอบกลับ ตามกระบวนการหารือล่วงหน้า หรือ PC : Prior Consultation ซึ่งเป็นตัวย่อยจากกระบวนการใหญ่ที่เรียกว่า PNPCA โดย สปป.ลาว ได้เสนอโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม ผ่านสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562 เพื่อเข้าสู่กระบวนการ PNPCA โดยโครงการเริ่มกระบวนการ PNPCA เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ซึ่งยังอยู่ในช่วงการระบาดของโควิด 19
เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า ตั้งแต่เริ่มกระบวนการหารือ ประเทศไทยยืนยันมาโดยตลอดว่า เราจำเป็นต้องทราบผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศไทย ซึ่งข้อมูลที่เราได้รับในขณะนั้น ยังไม่มีในส่วนนี้ การเจรจากับ สปป.ลาว และ MRCS จึงมีการดำเนินการมาโดยตลอด แม้กระทั่งปลายปี 2564 เราก็ยังไม่ได้รับข้อมูล ในช่วงนั้น สทนช. ได้จัดจัดเวทีสาธารณะล้อมวงคนริมโขง 1 ครั้ง ที่จังหวัดเลย เพื่อเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ หลังจากเวทีปี 2564 คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติลาว และ MRCS ก็ทำงานในเรื่องจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมต่อมา จนถึงวันนี้ เราได้รับข้อมูลในเรื่องผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประเทศไทยในด้านต่างๆ ครบทั้ง 3 ส่วนแล้ว ได้แก่ ส่วนที่ 1 คือ ด้านอุทกวิทยา/ชลศาสตร์ ตะกอน ความปลอดภัยของเขื่อน ส่วนที่ 2 คือ ด้านสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพและการประมง และส่วนที่ 3 คือ ด้านเศรษฐกิจและสังคม
“คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย มีความกังวลเรื่องผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศไทยอย่างมาก ได้กำชับให้ สทนช. ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วนอย่างรอบด้าน และสรุปรวบรวมความเห็นอย่างรอบคอบ ทั้งความเห็นจากประชาชน หน่วยงาน และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง โดยให้ยึดประโยชน์ประเทศเป็นสำคัญและคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย ซึ่งเวทีรับฟังความเห็นกรณีเขื่อนสานะคาม สปป.ลาว ครั้งที่ 4 ครั้งสุดท้าย จะจัดขึ้นที่จังหวัดบึงกาฬ ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อรวบรวมจัดทำความเห็นของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เสนอต่อรัฐบาลผ่านคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยและเสนอต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง พิจารณาต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย