รมช.อัคราฯ นำทีมผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ติดตามสถานการณ์ปลาหมอคางดำ พื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม  อธิบดีบัญชาฯ ขานรับนโยบาย ชูโครงการ “สิบหยิบหนึ่ง” พร้อมขยายผลทั่วประเทศ

เมื่อวันจันทร์ที่ 20 มกราคม 2568 นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมด้วย ดร.ณมาณิตา กลับบ้านเกาะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธนสาร ธรรมสอน ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ดร.สุรพิชย์ พรหมสิทธิ์ คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ และคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและประชุมหารือการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามโดยมีนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม นายสุวัฐน์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมประมง นายกรกฎ วงษ์สุวรรณ นายรนัสถ์ชัย พุ่มเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ และผู้แทนเกษตรกรให้การต้อนรับและเข้าร่วมประชุม โดยสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงคราม ได้รายงานสรุปผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่ตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567 – 2570 โดยในระยะเร่งด่วนจะเน้นการดำเนินการตามมาตรการที่ 1 การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบมีการแพร่ระบาด ผ่านกิจกรรมลงแขกลงคลอง ในแหล่งน้ำธรรมชาติร่วมกับชุมชน สามารถกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำได้ จำนวน 55,302 กิโลกรัม และมีการสนับสนุนกากชาให้กลุ่มกองทุนบริหารกากชา และเกษตรกรแล้วกว่า 18,900 กิโลกรัม และยังมีการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดอื่น โดยใช้ปลาหมอคางดำเป็นอาหารสัตว์น้ำ มาตรการที่ 2 การกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรมปล่อยปลาผู้ล่าลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ นับตั้งแต่ที่พบการแพร่ระบาดในพื้นที่ ไปแล้วกว่า 673,500 ตัว มาตรการที่ 3 การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ ผ่านโครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ โครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง โครงการสร้างแรงจูงใจในการนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกไปใช้ประโยชน์ โดยการหมักปลาร้า พ.ศ. 2567 รวมการนำปลาหมอคางดำมาใช้ประโยชน์ ระหว่างเดือน สิงหาคม 2567 – มกราคม 2568 จำนวน 331,282 กิโลกรัม

ภายหลังการประชุม รมช.อัคราเปิดเผยว่า สำหรับการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในระยะนี้ ตนในฐานะที่กำกับดูแลกรมประมง มุ่งเน้นไปที่เกษตรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการระบาดในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมประมงในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งจะใช้เป็นโมเดลในการขยายผลไปจังหวัดอื่น ๆ ทำงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่ เร่งหาจุดรับซื้อที่เหมาะสมในการรับซื้อ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรและประชาชน รวมถึงการกระตุ้นการมีส่วนร่วม โดยตนได้ให้นโยบายและหารือร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาที่ดิน กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อจะแปลงงบประมาณมาใช้ทำโครงการรับซื้อร่วมกับกรมประมงและนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป โดยขณะนี้ การยางแห่งประเทศไทย ได้เตรียมงบประมาณไว้สำหรับรับซื้อปลาหมอคางดำและจะนำส่งให้กรมพัฒนาที่ดินนำไปแปรรูปเป็นปุ๋ยเพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 600,000 กิโลกรัม วงเงิน 12 ล้านบาท ที่สำคัญตนจะเร่งหารือกับสำนักงบประมาณ เพื่อให้ทางกรมประมงเร่งขอใช้งบกลางต่อไป

หลังจากนั้น รมช.อัครา และคณะ ได้เดินทางไปยังท่าน้ำวัดคลองโคน ตำบลคลองโคน อำเภอเมืองสมุทรสงคราม   เพื่อรับฟังปัญหาผลกระทบการรุกรานของปลาหมอคางดำต่อเกษตรกร และผลตอบรับหลังเข้าร่วมโครงการ “สิบหยิบหนึ่ง” จากนางสาวกาญจนา คลองโคน และ นายธีระ ดอกไม้จีน (ผู้แทนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ) ว่าสามารถกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่เพาะเลี้ยงและสามารถส่งคืนปลาผู้ล่า ให้แก่สำนักงานประมงจังหวัดนำไปปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำ ในแหล่งน้ำธรรมชาติ และรมช.อัครา ยังได้มอบพันธุ์ปลาผู้ล่าจำนวน 5,000 ตัว ให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ “สิบหยิบหนึ่ง” และร่วมกันปล่อยพันธุ์ปลาผู้ล่าที่เกษตรกรคืนมาหลังจากนำไปกำจัดในบ่อเลี้ยงลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ หลังจากนั้น รมช.อัคราและคณะ ได้ลงพื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลคลองโคน อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม ไปเยี่ยมชมบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของนางสาวกาญจนา คลองโคน ต่อมารมช.อัคราและคณะได้เดินทางไปยังบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อรับฟังปัญหา และติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่อย่างใกล้ชิด

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดสมุทรสงครามเป็นหนึ่งจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำอย่างหนัก ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการดำเนินการของกรมประมงได้บูรณาการการทำงานร่วมกับทางจังหวัดสมุทรสงคราม ภาคเอกชน และภาคประชาชน ตามมาตรการต่าง ๆ ส่งผลให้สถานการณ์การแพร่ระบาดบรรเทาลง และที่สำคัญได้มีการจัดทำโครงการ “สิบหยิบหนึ่ง” เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีการมอบพันธุ์สัตว์น้ำ (ลูกพันธุ์ปลากะพงขาว) ให้แก่เกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว แล้วนำไปปล่อยในบ่อเลี้ยงของตนเอง เพื่อควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยง ส่งผลให้เกษตรกรมีผลผลิตเพิ่มขึ้น พร้อมยังสร้างความยั่งยืน หลังจากนั้นประมาณ 2 – 3 เดือน เมื่อปลากะพงขาวที่เกษตรกรนำไปปล่อยเลี้ยงในบ่อ มีขนาดที่สามารถเป็นผู้ล่าที่มีประสิทธิภาพ พร้อมกำจัดปลาหมอคางดำในธรรมชาติ เกษตรกรจะส่งคืนปลานักล่าจำนวน 10% (สิบหยิบหนึ่ง)ให้กับสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงคราม สำหรับนำไปปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำ สร้างสมดุลระบบนิเวศและกรมประมงกำลังนำโมเดล “สิบหยิบหนึ่ง”  ขยายผลสู่พื้นที่อื่นต่อไป