วันที่ 21 มกราคม 2568 นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในการแถลงข่าวการจัดงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรมไทย “บัณฑิตพัฒนศิลป์ สืบสานศิลป์ แผ่นดินสยาม” โดยมีแพทย์หญิงวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) นางนิภา โสภาสัมฤทธิ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) ร่วมแถลงข่าว และมีผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรัตน์ จงดา ผู้ช่วยอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรมและกรุงเทพมหานคร เครือข่ายทางศิลปะและวัฒนธรรมและสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดยภายในงานแถลงข่าวมีการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม ชุด “บัณฑิตพัฒนศิลป์ สืบสานศิลป์ แผ่นดินสยาม”
นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อน Soft Power สร้างเสน่ห์วิถีไทย ครองใจคนทั้งโลก ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ประกาศยกระดับเทศกาลประเพณีไปสู่ระดับชาติและนานาชาติและมุ่งเผยแพร่ Soft Power อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยในด้านต่างๆ เช่น ท่องเที่ยว อาหาร เฟสติวัล (เทศกาล) ภาพยนตร์ ศิลปะ ดนตรี เป็นต้น เพื่อให้ Soft Power ของไทยเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปสู่ระดับนานาชาติ โดยปีนี้วธ.มุ่งขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมด้วย 4 นโยบาย 3 แนวทาง 2 รูปแบบ สู่ 1 เป้าหมาย ทำให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วโลกมาเที่ยวในมิติด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 25 ประเทศที่มีอิทธิพลด้าน Soft Power ในมิติวัฒนธรรมในปีพ.ศ. 2570 ดังนั้น วธ.ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เอกชนและเครือข่ายทางศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ โดยการผลักดันให้เศรษฐกิจวัฒนธรรม เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ประชาชนและชุมชน ส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตมากขึ้น
รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า วธ.โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์(สบศ.)ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และเครือข่ายทางวัฒนธรรม จัดงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรมไทย “บัณฑิตพัฒนศิลป์ สืบสานศิลป์ แผ่นดินสยาม” ระหว่างวันที่ 25 – 26 มกราคม 2568 ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ภายในงานมีกิจกรรม ได้แก่ การบรรเลงและขับร้องดนตรีไทย ดนตรีสากลและดนตรีพื้นเมือง 4 ภาค การแสดงนาฏศิลป์ไทย นาฏศิลป์พื้นเมือง 4 ภาคและนาฏศิลป์สร้างสรรค์โดยมีนักแสดงจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เข้าร่วมแสดงทั้งหมดกว่า 1,000 คน การแสดงผลงานด้านทัศนศิลป์และช่างศิลป์นานาชาติ ซึ่งเป็นผลงานของศิลปินไทยและศิลปินต่างชาติที่เข้าร่วมโครงการความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมด้านทัศน์ศิลป์กับสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์จำนวน 9 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ เวียดนาม ศรีลังกา อินโดนีเซีย มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ประกอบด้วยศิลปินไทย 57 ผลงาน และศิลปินต่างชาติ 45 ผลงาน รวมทั้งหมด 102 ผลงาน การจำหน่ายสินค้าและอาหารพื้นเมือง 4 ภาค ซึ่งประชาชนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เข้าร่วมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ
“งานมหกรรมศิลปวัฒนธรรมไทย “บัณฑิตพัฒนศิลป์ สืบสานศิลป์ แผ่นดินสยาม” มีชุดการแสดง ดนตรีประกอบการแสดงและความหลากหลายทางวัฒนธรรมของทุกภูมิภาค การสร้างสรรค์งานด้านนาฏศิลป์ ดนตรี คีตศิลป์ ทัศนศิลป์ และช่างศิลป์ที่มีความงดงาม ตระการตา เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ความเป็นไทยสามารถสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชมได้ทุกกลุ่มและทุกวัฒนธรรมเพราะสะท้อนถึงรากเหง้าที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยที่ตกผลึกมาอย่างยาวนาน เป็นการเผยแพร่ Soft Power ของไทยโดยเฉพาะในเรื่องของนาฎศิลป์ ดนตรี และทัศนศิลป์ ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทยไปสู่นานาชาติ และขับเคลื่อน Soft Power ต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมเศรษฐกิจชาติตามนโยบายของรัฐบาล” นางยุถิกา กล่าว
แพทย์หญิงวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.ได้ร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรมจัดงาน มหกรรมศิลปวัฒนธรรมไทย “บัณฑิตพัฒนศิลป์ สืบสานศิลป์ แผ่นดินสยาม” ระหว่างวันที่ 25 -26 มกราคม 2568 ณ ลานคนเมือง กรุงเทพมหานคร โดยกทม.สนับสนุนการใช้พื้นที่ลานคนเมืองเพื่อ เปิดโอกาสให้มีเวทีเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมในการแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจ ในการพัฒนาและค้นหาตัวตนสู่ความเป็นเลิศด้านศิลปะ ก่อให้เกิดเรียนรู้แลกเปลี่ยนกระบวนการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ ยังเป็นการสร้างรายได้จากต้นทุนและทรัพยากรทางวัฒนธรรม ใช้มิติทางศิลปะสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ พัฒนาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยว สินค้า และบริการด้านการศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ช่วยเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรมผ่านการจัดกิจกรรมในรูปแบบของงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรมเพื่อตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วย Soft power ด้านต่างๆ
นางนิภา โสภาสัมฤทธิ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) กล่าวว่า สบศ.จัดงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรมไทย “บัณฑิตพัฒนศิลป์ สืบสานศิลป์ แผ่นดินสยาม” โดยคณะศิลปศึกษาเป็นเจ้าภาพและได้รับการสนับสนุนจากกทม.ในการอำนวยความสะดวกด้านพื้นที่ ซึ่งเป็นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมสู่สาธารณชนและประชาสัมพันธ์ส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อน Soft Power ด้านศิลปวัฒนธรรมของไทยสู่ระดับนานาชาติ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจชาติ
อธิการบดี สบศ. กล่าวอีกว่า งานครั้งนี้มีกิจกรรมการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจมากมาย เช่น การบรรเลงและขับร้องดนตรีไทย ดนตรีสากล เช่น วงสังคีตรังสรรค์ แคนวง วงเครื่องสายปี่ชวา วงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องคู่ วงดนตรีสังกัดกรุงเทพมหานคร และดนตรีพื้นเมือง 4 ภาค นอกจากจะได้รับชมการแสดงแนวอนุรักษ์จากวิทยาลัยนาฏศิลป อาทิ การแสดงชุดระบำตำนานนางสงกรานต์ การแสดงชุดนาฏยศิวะอัปสรา กลองยาวสุโขทัย ฟ้อนเต้ยเกี้ยว นอกจากนี้ ยังมีการแสดงสร้างสรรค์ใหม่ ๆ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จำนวนกว่า 14 ชุด และการแสดงจากมหาวิทยาลัยเครือข่ายทางด้านศิลปวัฒนธรรมกว่า 10 ชุด เช่น การแสดงสร้างสรรค์ชุดเส้นไหมนฤมิตร วิจิตรพัสตราภรณ์ พยุหพลรณยุทธ์ ฉลองวิวาห์ชอง เสน่ห์เมืองย่าโม และพบกับการแสดงเปิดงานที่ยิ่งใหญ่ในวันที่ 25 มกราคมนี้ ณ ลานคนเมือง กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รวบรวมศิลปะการแสดงทั่วทุกถิ่นในประเทศไทยมาแสดงร่วมกันในงานครั้งนี้ด้วย ขอเชิญชวนประชาชนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งในกรุงเทพฯปริมณฑล และพื้นที่ใกล้เคียงมาเที่ยวชมงานระหว่างวันที่ 25 – 26 มกราคม 2568 ณ ลานคนเมือง กรุงเทพมหานคร เข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ