เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2568 นางกาญจนา แดงรุ่งโรจน์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้เข้าร่วมการอภิปรายระดับสูงในหัวข้อ “การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยแนวทางเกษตรเชิงนิเวศและเกษตรกรรมเชิงฟื้นฟู: กรณีศึกษาจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Promoting Sustainable Development through Agroecological and Regenerative Approaches: Examples from Southeast Asia)” ภายใต้การประชุม Global Forum for Food and Agriculture (GFFA) ครั้งที่ 17 ซึ่งจัดขึ้น ณ CityCube Berlin กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนี
การอภิปรายดังกล่าวจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างสมาคมเกษตรกรรมเยอรมัน (German Agriculture Society: DLG) และองค์กรความร่วมมือ ระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) โดยมีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงนโยบาย แนวทางปฏิบัติด้านการเกษตรที่ยั่งยืน และนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจชีวภาพในภูมิภาคเอเซีย โดยนางกาญจนาได้ร่วมการอภิปรายกับผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรยั่งยืนระดับโลก ได้แก่ Mrs. Sarah Talea Kretschmer ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรเชิงนิเวศ และผู้เชี่ยวชาญระยะยาวประจำโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน (GETHAC) ดร. Geradine Mukeshimana รองประธานกองทุนระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาเกษตรกรรม (IFAD) และ Mrs. Helga Flores Trejo ผู้แทนพิเศษด้านกิจการพหุภาคีด้านความยั่งยืน บริษัท Bayer AG รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา
รองเลขาธิการ มกอช. ได้นำเสนอวิสัยทัศน์และแนวทางของประเทศไทยในการส่งเสริมการเกษตรยั่งยืน ผ่านนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy Model) และยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 20 ปี ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาด้านเกษตรอย่างยั่งยืนควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทย โดย มกอช. ได้ขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวผ่านการกำหนดมาตรฐานยั่งยืนในการผลิตสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่ อาทิ ข้าว ปาล์มน้ำมัน และกุ้งทะเล พร้อมส่งเสริมให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้ปฏิบัติ
โดยได้ยกตัวอย่างมาตรฐานข้าวยั่งยืนของไทย หรือ มกษ. 4408-2022 ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานระดับโลก และมุ่งเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรรายย่อย
ที่ประชุมให้ความสนใจในมาตรฐานข้าวยั่งยืนของไทยและและแนวทางส่งเสริมและผลักดันการปรับเปลี่ยนแนวทางการผลิตไปสู่การปฏิบัติที่ดีเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน สะท้อนถึงบทบาทสำคัญของประเทศไทยในการสนับสนุนการเกษตรที่ยั่งยืนและการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลก