ภูมิทัศน์การเลือกตั้ง อบจ. เปลี่ยน! ผลพวงถ่ายโอนฯ รพ.สต. ให้ท้องถิ่น ชี้ ‘นโยบายสุขภาพ’ ช่วยดันคะแนนเสียง

เลขาธิการ คสช. ชื่นชมผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. พบหลายคนชูนโยบายสุขภาพ-สุขภาวะ ชี้ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ควรสานต่อการสร้างระบบสุขภาพที่เท่าเทียมและเป็นธรรม ดูแล ปชช. และประชากรกลุ่มเปราะบาง ด้าน “นพ.ประวัติ” เผย ผลจากการถ่ายโอน รพ.สต. หนุนท้องถิ่นทำงานด้านสาธารณสุขใกล้ชิดประชาชน ขณะที่กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ระบุชัด ภูมิทัศน์การเมืองเปลี่ยนไปแล้ว ประชาชนสนใจการเมืองเชิงนโยบายมากกว่า “ไฟสว่าง-ทางดี” หรือ “บ้านใหญ่” ย้ำหากอยากให้ท้องถิ่นขับเคลื่อนรูปธรรมได้จริง ต้องให้อำนาจเต็มเพิ่มด้วย

 การเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) พร้อมกันทั้งหมด 47 จังหวัด ทั่วประเทศในวันที่ 1 ก.พ. 2568 นี้ พบว่าผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งนายก อบจ. จำนวนไม่น้อยให้ความสำคัญกับการใช้วาระการพัฒนาสุขภาพ สุขภาวะ เป็นนโยบายในการหาเสียงและเป็นคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน หากได้มีโอกาสเข้าไปทำหน้าที่ในการบริหาร อบจ.

นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (เลขาธิการ คสช.) เปิดเผยว่า สุขภาพเป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน เมื่อประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง อายุยืนอย่างมีคุณภาพ ย่อมส่งผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศโดยรวม ซึ่งในโอกาสที่การเลือกตั้งนายก อบจ. กำลังจะมาถึงนี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ขอฝากความหวังไปยังผู้สมัครทุกท่านในการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบสุขภาพในพื้นที่ เพราะสุขภาพที่ดีของประชาชนจะนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับสังคม

นพ.สุเทพ กล่าวว่า นโยบายด้านสุขภาพที่ผู้สมัครหลายท่านนำเสนอในการหาเสียง โดยเฉพาะการจัดระบบสุขภาพที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมและเป็นธรรม ส่งเสริมให้ผู้คนในสังคมในทุกพื้นที่และทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ห่างไกล ถิ่นทุรกันดาร ประชากรกลุ่มเปราะบาง ฯลฯ สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยได้ ถือเป็นเรื่องที่ดีและนับเป็นมิติใหม่ในการหาเสียง ซึ่งในโอกาสที่ประเทศไทยได้ปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิครั้งใหญ่ด้วยการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้บริหาร อบจ. จะขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพที่เท่าเทียมและเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับประชาชนได้ตามบริบทของพื้นที่และสภาพปัญหาของพื้นที่นั้นๆ

นพ.สุเทพ กล่าวอีกว่า ขอชื่นชมผู้สมัครที่ได้จัดทำนโยบายด้านสุขภาพและสุขภาวะ และมีนโยบายจำนวนมากที่ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นแบบใด ผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้บริหาร อบจ. คนต่อไปควรจะสานต่อ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง การดูแลผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน หรือการส่งเสริมสุขภาพเชิงรุกในรูปแบบต่างๆ เช่นการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กลุ่มเสี่ยง รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ เช่น วิ่ง ปั่นจักรยาน และกิจกรรมสร้างสุขภาพในชุมชน ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีผู้สมัครหลายคนยังได้เน้นย้ำว่าจะมีการจัดระบบการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียม ด้วยการจัดตั้งศูนย์บริการสุขภาพในทุกตำบล พร้อมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หรือการใช้เทคโนโลยีด้วยระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพื่อให้บริการสุขภาพในพื้นที่ห่างไกล หรือการป้องกันโรคและเสริมสร้างพัฒนาการในเด็กด้วยการส่งมอบ Baby Box เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิดและสนับสนุนโภชนาการที่ดีและการตรวจสุขภาพเด็กในทุกพื้นที่ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ดีและช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่นได้อย่างแน่นอน

“สช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้สมัครทุกท่านจะให้ความสำคัญของสุขภาพ เน้นการสร้างเสริมสุขภาพโดยประชาชนเองและการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาท้องถิ่น และเมื่อประชาชนมีสุขภาพดี ชุมชนมีความเข้มแข็ง พวกเขาก็จะสามารถมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสังคมและสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ สุขภาพดีคือรากฐานของชีวิตที่มั่นคง และความสำเร็จของทุกนโยบายย่อมเริ่มต้นจากการมีสุขภาพที่ดี” นพ.สุเทพ กล่าว

นพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ นายก อบจ.กาญจนบุรี กล่าวว่า ทิศทางการนำเสนอนโยบาย หรือการหาเสียงของผู้ลงสมัครนายก อบจ. หลายๆ พื้นที่ในครั้งนี้ มีความแตกต่างจากช่วงการเลือกตั้งสมัยที่แล้ว ซึ่งค่อนข้างจะให้น้ำหนักกับการพัฒนาและดูแลสุขภาพให้กับประชาชนมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลพวงจากการพลักดัน พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 จนทำให้เกิดการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. และสถานีอนามัยฯ มาสังกัด อบจ. ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้องค์กรท้องถิ่นซึ่งมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดเริ่มเข้ามามีบทบาทในการทำงานด้านสาธารณสุขมากกว่าที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าบทบาทการทำงานของ รพ.สต. ในช่วงที่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ค่อนข้างมีการพัฒนาที่ล่าช้า การกระจายอำนาจจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้การพัฒนา รพ.สต. มีความชัดเจนและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เมื่อ รพ.สต. ซึ่งเป็นสถานพยาบาลที่มีความใกล้ชิดกับชุมชน ทำให้ประชาชนสามารถเข้ารับบริการสุขภาพใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางไกลไปยังตัวเมือง จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้ลงสมัครนายก อบจ. ในหลายๆ จังหวัดครั้งนี้ เริ่มมีนโยบายด้านสุขภาพเป็นวาระสำคัญ

นพ.ประวัติ กล่าวต่อไปอีกว่า หากจะยึดตามบริบทของ พ.ร.บ. กระจายอำนาจฯ จริงๆ ควรจะมีการถ่ายโอน รพ. เข้ามาด้วย แต่เนื่องจากความไม่พร้อมในหลายๆ ด้าน จึงทำให้ที่ผ่านมาท้องถิ่นได้รับการถ่ายโอนเข้ามาได้เพียงแค่ รพ.สต. เท่านั้น แต่ก็เชื่อว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในวันข้างหน้า อย่างน้อยที่สุดก็จะต้องมีโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ถ่ายโอนเข้ามา สิ่งเหล่านี้จะเป็นบทบาทสำคัญของท้องถิ่น ในการดูแลสุขภาพของประชาชนในอนาคต

นายไมตรี จงไกรจักร์ ประธานมูลนิธิชุมชนไท ในฐานะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า การเมืองท้องถิ่นในอดีตมักจะมุ่งเน้นเรื่องการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ตามคำกล่าวในทำนอง “ไฟสว่าง ทางดี” แต่พบว่าในระยะหลังมานี้การเมืองท้องถิ่นเริ่มมีการเปลี่ยนทิศทาง โดยหันมาสนใจการเมืองเชิงนโยบายมากขึ้น และผู้สมัครก็มุ่งเน้นการชูนโยบายเพื่อใช้ในการหาเสียงและแข่งขันกันในทางการเมือง เป็นผลทำให้ประชาชนเกิดความสนใจ ติดตาม นโยบายจากผู้สมัครนายก อบจ. เช่นกัน

ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงนโยบายด้านสุขภาพตามนิยามที่ควรจะเป็น จะต้องไม่จำกัดเพียงแค่การรักษา หรือการ ‘ซ่อม’ อย่างเดียว แต่ควรจะเป็นการ ‘สร้างนำซ่อม’ โดยครอบคลุมทั้ง 4 มิติ ด้านสุขภาพ ได้แก่ กาย ใจ สังคม และปัญญา ซึ่งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้เริ่มมีการชูนโยบายด้านสุขภาพซึ่งครอบคลุมทั้ง 4 มิติมากขึ้น เช่น การจัดทำน้ำประปาดื่มได้ การจัดบริการขนส่งสาธารณะ หรือบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ทั้งนี้ เฉพาะในพื้นที่หาเสียงของ จ.พังงา คาดว่ามีผู้สมัครชูนโยบายด้านสุขภาพประมาณ 30%

“ภูมิทัศน์การเมืองมันเปลี่ยนไปเยอะ สำหรับผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง และมันส่งผลต่อการเรียนรู้ของประชาชนด้วย ผมพบว่าเครือข่ายใน จ.พังงา มีผู้อาวุโสที่มีอายุเกิน 60 ปี อ่านนโยบายของผู้สมัครและเกิดการพูดคุย แลกเปลี่ยน ซึ่งสมัยก่อนไม่มีบรรยากาศแบบนี้ เมื่อก่อนจะเป็นระบบบ้านใหญ่ ใช้หัวคะแนนเป็นหลัก เดี๋ยวนี้ ผู้สมัครหลายๆ คน หลายพรรคหันมาเน้นการใช้สื่อ เน้นการเดินเพื่อสื่อสารนโยบายเป็นจุดขายให้กับประชาชน ก็ถือว่าการเมืองท้องถิ่นในยุคนี้มีความสนุกมากขึ้น” นายไมตรี ให้ภาพ

อย่างไรก็ตาม หากผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้เข้าไปทำหน้าที่ในการบริหารแล้ว นายไมตรี กล่าวว่า ควรจะมีการสร้างกลไกร่วม โดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนและเอกชน เข้าไปทำงานร่วมกับท้องถิ่นในลักษณะของการกำกับ ติดตาม ประเมินผล หรือถ่วงดุลอำนาจ ผ่านคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายในด้านต่างๆ และควรมีการแก้ระเบียบต่างๆ เพื่อให้ท้องถิ่นมีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการและให้คุณให้โทษข้าราชการด้วย ทั้งหมดก็เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายเป็นรูปธรรมและแก้ปัญหาบุคลากรที่ทำงานเรื่อยๆ โดยไม่อยากพัฒนาท้องถิ่น หรือมองว่าการพัฒนาต่างๆ เป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้น